IMPLICATIONS ON FINANCIAL MARKETS
สำหรับผลต่อตลาดเงินและตลาดทุน Brexit นั้นนับว่ามีน้ำหนักต่อการเคลื่อนไหวของปอนด์อย่างมีนัยสำคัญ โดยตั้งแต่ต้นปี 2016 ปอนด์ได้อ่อนค่าลงราว 2.0% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ และจากค่าเงินปอนด์ในตลาดล่วงหน้าก็สะท้อนแนวโน้มว่าปอนด์น่าจะทรงตัวอยู่ในระดับ 1.45 ดอลลาร์ต่อปอนด์ไปจนถึงปี 2017 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 1.57 ในช่วงปี 2010-2015 ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งคงเป็นผลมาจากความกังวลของนักลงทุนต่อความไม่แน่นอนของสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของ UK หากต้องออกจาก EU โดย BBLAM คาดว่าหาก UK ถอนตัวออกจาก EU อาจทำให้ปอนด์ปรับฐานลงไปเคลื่อนไหวในกรอบที่ต่ำกว่า 1.45 ดอลลาร์ต่อปอนด์ หรือลบ 2 เท่าของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation : SD) แต่ถ้าหาก UK ยังคงอยู่ใน EU ต่อไปก็น่าจะทำให้ค่าเงินดีดตัวกลับขึ้นมาอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยเดิมในช่วงปี 2010-2015 ที่ราว 1.6 ดอลลาร์ต่อปอนด์ได้
ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลความเสี่ยงต่ำ (Gilts) ได้ย่อตัวลงมาในทุกช่วงอายุตราสารในช่วงเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา เช่น ผลตอบแทนพันธบัตร Gilt อายุ 2 ปีที่ลดลงถึง 0.34% ทั้งนี้ มาตรการทางการเงินที่ผ่อนคลายลงของ BOE และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เชื่องช้าน่าจะยังเป็นปัจจัยกดดันอัตราผลตอบแทนต่อไป และเราคาดว่า BOE น่าจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือเริ่มใช้นโยบายการเงินที่รัดกุมในระยะอันใกล้นี้ จากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสแรกที่ออกมาไม่ดีนัก โดยในวันที่ 12 พ.ค. 16 BOE ก็มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมคงปริมาณสุทธิของการเข้าซื้อสินทรัพย์ผ่านโครงการของ BOE ไว้ที่ 3.7 แสนล้านปอนด์
อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล UK อาจถูกกระทบจากการอ่อนค่าของปอนด์ในระยะสั้นที่กำลังจะเกิดประชามติ เนื่องจากผู้ลงทุนมักไม่เลือกถือทรัพย์สินในสกุลเงินที่กำลังสูญเสียมูลค่า เห็นได้จากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนเทียบกับช่วง 3 เดือนก่อนหน้า และการถอนตัวออกจาก EU ของ UK อาจก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น เช่น การปรับลดระดับเครดิตของประเทศ หรือการเกิดภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ (Stagflation) หากอัตราเงินเฟ้อลอยตัวขึ้น ขณะที่อัตราการจ้างงานและการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับต่ำ เมื่อนั้นตลาดก็อาจให้น้ำหนักกับเงินปอนด์และ Gilts ในฐานะที่เป็นที่พักเงิน (Safe Haven) น้อยลง และทำให้เส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) มีความชันเพิ่มขึ้นจากการปรับตัวขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว
IMPLICATIONS ON TRADE
เราคาดว่า Brexit จะไม่กระทบต่อไทยในเชิงการค้ามากนัก โดยมีสาเหตุมาจากสองปัจจัยหลัก ได้แก่ (1) ไทยและ EU ยังไม่มีข้อตกลงเขตการค้าเสรีในขณะนี้ และ (2) การส่งออกของไทยสู่ UK นั้นคิดเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับการส่งออกรวมของไทย
1. ณ ตอนนี้การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ของไทยกับ EU ยังไม่มีความคืบหน้า เพราะฉะนั้น Brexit จึงจะไม่น่าส่งผลกระทบโดยตรงต่อการค้าระหว่างไทยกับ UK ผ่านช่องทางการสูญเสียสิทธิทางการค้า แต่ในอนาคตหากเกิด Brexit ขึ้นจริงไทยอาจต้องทำ FTA กับ UK นอกเหนือจาก FTA Thailand-EU เพราะไทยกับ UK นั้นยังไม่มีข้อตกลงทางการค้าระหว่างกันโดยตรง (Bilateral Agreement) และขอบเขตของ FTA กับ EU นั้นจะไม่ครอบคลุมถึงการค้ากับ UK อีกต่อไป
2. UK เป็นคู่ค้าอันดับที่ 18 ของไทย และสินค้าไทยส่งออกไป UK คิดเป็นมูลค่า 3.6 พันล้านดอลลาร์ หรือเพียง 1.5% ของการส่งออกทั้งหมด โดยมีผลิตภัณฑ์ไก่เป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่ง (14.8% ของการส่งออกไป UK) ตามด้วยรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (14.7% ของการส่งออกไป UK) นอกเหนือจากนั้น ไทยได้ส่งสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไป UK และ EU ในสัดส่วนค่อนข้างสูง ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล่านี้ควรจะจับตาการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบและภูมิทัศน์ทางการค้าอย่างใกล้ชิด
V CONCLUSION
คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า Brexit นั้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ถูกจับตาจากทั้งภาครัฐและเอกชนของ UK และได้ก่อให้เกิดการชะลอตัวลงบ้างแล้วในบางอุตสาหกรรม หากเกิดขึ้นจริง ก็อาจส่งผลต่อแนวโน้มในภาคการเงินอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ การสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินปอนด์ และความชันของ Yield Curve ของพันธบัตรรัฐบาล เราจึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดสืบเนื่องไปจนถึงการทำประชามติในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ แต่ทั้งนี้ ผลกระทบต่อการค้าระหว่างไทยกับ UK น่าจะอยู่ในวงที่จำกัดจากเหตุการณ์นี้