กองทุนอสังหาฯ ประเภทค้าปลีกมักจะผลักภาระภาษีให้ผู้เช่าเป็นส่วนใหญ่ เพราะเจ้าของห้างสรรพสินค้าจะมีอำนาจการต่อรองที่สูงกว่าผู้เช่ารายย่อย โดยหลายกองทุนมีการระบุในสัญญาเช่าว่าผู้เช่าเป็นผู้รับผิดชอบภาษีอสังหาฯ อยู่แล้ว โดยผลกระทบทางภาษีที่กองทุนอสังหาฯ ต้องแบกรับ น่าจะมาจากภาษีบนพื้นที่ที่ยังไม่มีผู้เช่า ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ค่อนข้างน้อย ดังนั้นผลกระทบโดยรวมต่อกองทุนอสังหาฯ ประเภทค้าปลีกจึงมีไม่มาก
สำหรับกองทุนอสังหาฯ ประเภทอาคารสำนักงาน เนื่องจากอาคารสำนักงานสร้างใหม่ปัจจุบันนี้ถือว่ามีน้อย ดังนั้นกองทุนอสังหาฯ ประเภทอาคารสำนักงานน่าจะไม่มีปัญหาในการผลักภาระให้ผู้เช่าโดยการขึ้นค่าเช่าถ้าภาษีที่เก็บตามระบบใหม่มากกว่าระบบเดิม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชัดเจนในวิธีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินตามกฎหมายใหม่นี้ด้วย
กองทุนอสังหาฯ ประเภทโรงแรม น่าจะได้รับผลกระทบจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากที่สุด เนื่องจากในปัจจุบันโรงแรมจ่ายภาษีโรงเรือนอยู่ต่ำกว่าอสังหาฯ ประเภทอื่นๆ เพราะรายได้ลดลงจากอุปทานที่มากโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ
กองทุนอสังหาฯ ประเภทโรงงานและคลังสินค้าจะได้รับผลกระทบบ้างจากการที่กองทุนต้องรับภาระภาษีในส่วนที่ไม่มีผู้เช่า ซึ่งมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละกองทุน แต่โดยสัญญาส่วนใหญ่ผู้เช่าจะเป็นผู้รับผิดชอบภาษีทางอสังหาฯ จึงได้รับผลกระทบไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อกองทุนอสังหาฯ ยังยากที่จะประเมินให้แน่ชัดเนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนในรายละเอียดอีกมาก เช่น วิธีประเมินมูลค่าทรัพย์สินจะเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับการประเมินรายได้ของภาษีโรงเรือนและที่ดินเดิม ข้อยกเว้นว่าทรัพย์สินไหนจะสามารถได้รับการยกเว้นภาษี แต่ในเมื่อความตั้งใจของรัฐบาลคือการกระตุ้นให้มีการใช้อสังหาริมทรัพย์ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งในแง่ของกองทุนอสังหาฯ ก็นับว่ามีการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการลงทุนในกองทุนอสังหาฯ จึงไม่น่าที่จะได้รับผลกระทบมากจาก พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างในครั้งนี้
เรียบเรียงโดย : ฝ่ายจัดการกองทุนตราสารทุน บลจ.กสิกรไทย