โดย ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr.win@one-asset.com
จากคอลัมน์ในสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ (Mandatory PVD) ไปพอสมควร ทั้งในส่วนของแนวทางในการจัดตั้ง ตลอดจนลักษณะของรูปแบบการบริหารกองทุนที่สามารถแยกออกไปเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
Centralize คือการรวมเงินลงทุนของสมาชิกมาไว้ที่ศูนย์กลางและจัดตั้งหน่วยงานของภาครัฐขึ้นมาบริหารเงินลงทุน
การบริหารแบบ Decentralize หรือ Employee Choice หรือสมาชิกสามารถเลือกบริษัทจัดการที่ตนเองพอใจได้ ซึ่งในคอลัมน์ฉบับนี้ผมขออธิบายถึงกฎเกณฑ์ที่ควรบังคับใช้เพื่อให้มีความโปร่งใส รวมถึงแนวทางการจัดตั้งกองทุนประเภทเดียวกันในต่างประเทศ
สำหรับการบริหารกองทุน Mandatory PVD แบบ Decentralize ทางคณะกรรมการจัดตั้ง Mandatory PVD เห็นควรให้มีการกำกับดูแลเรื่องบำนาญอย่างชัดเจน ผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนบำนาญแห่งชาติ (Pension Authority) ซึ่งต้องเป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการออมเงินเพื่อบำนาญเป็นอย่างดี และที่สำคัญต้องเป็นอิสระจากการเมืองและไม่เป็นผู้บริหารจัดการกองทุนเอง
โดยการบริหารกองทุนในแบบ Decentralize นั้น บริษัทจัดการยังต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.ตามเดิมเพื่อการกำกับดูแลที่ดี ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ลงทุน และมีการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นจริงและถูกต้องตามข้อกำหนดของ Pension Authority ซึ่งคณะกรรมการของสำนักงาน ก.ล.ต.ควรเป็นคนละชุดกับคณะกรรมการ Pension Authority เพื่อความชัดเจนและโปร่งใสในการกำกับดูแล
อย่างไรก็ดี การบริหารงานทั้ง 2 ลักษณะต่างก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน ส่วนตัวผมมองว่า Centralize มีจุดเด่นคือ การกำหนดนโยบายการลงทุนและแนวทางปฏิบัติงานจะมีเอกภาพ ซึ่งหากภาครัฐมีคณะบุคคลทำงานที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการออมเพื่อบำนาญก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อการดำเนินการและสมาชิก แต่ผมคงขอย้ำเกี่ยวกับ Centralize ที่ดีมีประสิทธิภาพต้องเป็นอิสระจากการเมืองอย่างสมบูรณ์แบบครับ ในขณะที่การบริหารแบบ Decentralize ในแนวทางที่ผมขอนำเสนอคือ การบริหารงานโดยภาคเอกชน และยังคงไว้ในเชิงของการแข่งขันของธุรกิจบริษัทจัดการเพื่อใช้วัดผลการดำเนินงาน
สำหรับแนวทางการบริหารกองทุน Mandatory PVD ในต่างประเทศถือว่าค่อนข้างหลากหลาย และในหลายๆ ประเทศก็ให้ความสำคัญในเรื่องการออมเพื่อการเกษียณ และจัดตั้งกองทุนประเภทนี้ขึ้น เช่น ประเทศอังกฤษ ชิลี ฮ่องกง ซึ่งมีสัดส่วนการออมเพื่อการเกษียณอยู่ที่ 96% 68% และ 35% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศตนเอง และมีลักษณะการบริหารกองทุนแบบ Decentralize ขณะที่ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย แคนาดา ญี่ปุ่น มีลักษณะการบริหารกองทุนแบบ Centralize และมีสัดส่วนการออมเพื่อการเกษียณอยู่ที่ 68% 58% 74% 37% ตามลำดับ จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศถือว่ามีสัดส่วนการออมเพื่อการเกษียณเมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศตนเองค่อนข้างสูง และเป็นเหตุผลที่ผมเห็นควรและสนับสนุนให้ประเทศไทยมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับเกิดขึ้น เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศในวัยเกษียณที่ไม่มีรายได้จากการทำงาน
นอกจากนี้ จากความเห็นส่วนตัวผมขอสนับสนุนให้เกิดการบริหารการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับในรูปแบบ Decentralize เพราะผมมองว่าการบริหารกำหนดนโยบายการลงทุนและสินทรัพย์ที่เลือกลงทุนนั้นควรเป็นหน้าที่ของผู้จัดการกองทุน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนโดยตรง อีกทั้งการตัดสินใจด้านการลงทุนจะคล่องตัวและทันต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ในขณะที่การบริหารภายใต้การจัดการของภาครัฐบาลนั้น หากมองในเชิงภาพกว้างรัฐบาลมีนโยบายอื่นๆ ในการบริหารค่อนข้างมาก ประกอบกับมีขั้นตอนระเบียบต่างๆตามมาตรฐานของทางการ ดังนั้นในเชิงของการลงทุนความคล่องตัวจะน้อยกว่าและอาจเกิดความเสียหายต่อโอกาสจัดการผลประโยชน์แก่สมาชิก อีกทั้งผมมองว่าเป้าหมายของการวัดผลการดำเนินงานควรเป็นระยะยาว แต่ในมุมมองของการบริหารจากภาครัฐอาจมีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่นๆ อาทิ ปัจจัยทางการเมืองที่เข้ามากดดันและเลือกจะวัดผลการดำเนินงานในระยะสั้นมากกว่าระยะยาว เพราะผลการดำเนินงานของกองทุนก็คือผลการดำเนินงานของภาครัฐ ซึ่งจะผิดกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อการออมในระยะยาว
อย่างไรก็ดี ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนยังคงต้องร่วมผลักดันและให้ความรู้เกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับแก่ประชาชน เพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของการออมเพื่อบำนาญและการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ ซึ่งผมมั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยได้
“ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน”