xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวต่อไปของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr.win@one-asset.com

ในช่วงที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสหารือเกี่ยวกับแนวทางของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบภาคบังคับ (Mandatory PVD) โดยกองทุนประเภทนี้อาจจะเป็นเรื่องใหม่ในอุตสาหกรรม แต่ในมุมของผมมองว่าหาก Mandatory PVD สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงก็จะเป็นผลดีต่อภาคประชาชนตั้งแต่ระดับรากหญ้าเป็นต้นไป โดยเฉพาะบุคลากรที่ทำงานในภาคเอกชนให้มีเงินออมในระยะยาว ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อโครงสร้างการออมเพื่อเกษียณอายุของไทยที่ขณะนี้สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งในคอลัมน์ฉบับนี้ผมขอแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางในการจัดตั้งครับ

การจัดตั้ง Mandatory PVD กล่าวให้เข้าใจง่ายๆ คือ เป็นภาคบังคับการออมเงินของลูกจ้างหรือพนักงานบริษัท จากปัจจุบันที่ลูกจ้างสามารถออมเงินในวัยเกษียณด้วยความสมัครใจ ผ่านการสมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทนายจ้างที่ตนเองสังกัด แต่ในแนวทางของ Mandatory PVD คือ การออมภาคบังคับที่ได้เพิ่มแรงจูงใจทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้างด้วยการให้สิทธิประโยชน์จากทางภาษีโดยนายจ้างที่นำเงินที่จ่ายสมทบเข้ากองทุนมาหักลดหย่อนเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีได้ และให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับลูกจ้างที่นำเงินสะสมเข้ากองทุนมาหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีได้เช่นกัน

โดยแนวทางการบริหารของ Mandatory PVD ตามที่ได้หารือกันนั้น แบ่งแยกแนวคิดออกมาเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ การบริหารงานแบบ Centralize หรือการบริหารแบบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) / กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) คือการรวมเงินลงทุนของสมาชิกมาไว้ที่ศูนย์กลางและจัดตั้งหน่วยงานของภาครัฐขึ้นมาบริหารเงินลงทุนดังกล่าว

อีกแนวทาง คือ การบริหารแบบ Decentralize หรือ Employee Choice นั่นหมายถึงสมาชิกสามารถเลือกบริษัทจัดการที่ตนเองพอใจได้ หากผลตอบแทนไม่ดีก็สามารถเปลี่ยนบริษัทจัดการได้เอง

ผมมองว่าโอกาสที่บริษัทจัดการจะบริหารเงินและได้รับความเสียหายพร้อมกันค่อนข้างเกิดขึ้นได้ยากหากเทียบกับการบริหารงานแบบ Centralize เพราะจะยังคงมีการแข่งขันระหว่างบริษัทจัดการด้วยกัน เพื่อให้ผลการดำเนินงานของกองทุนตนเองนั้นออกมาดีที่สุด โดยบุคคลที่ได้รับประโยชน์คือสมาชิกของกองทุนครับ

อย่างไรก็ดี ในสัปดาห์หน้าเราจะกลับมาคุยกันต่อเกี่ยวกับแนวทางบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ Decentralize เป็นอย่างไร ในเชิงกำกับดูแล และในต่างประเทศมีแนวทางการจัดตั้งกองทุนประเภทเดียวกันอย่างไรบ้าง

• “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน”


กำลังโหลดความคิดเห็น