xs
xsm
sm
md
lg

ตอบโจทย์ภาวะตลาดผันผวน ด้วยหุ้นกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ รู้ทันการลงทุน Kaseet
โดย ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด

ในภาวะที่ตลาดการเงินมีความผันผวนค่อนข้างสูงอย่างในปัจจุบันจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความกังวลต่อเศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอตัวจนส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นวงกว้าง ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำและยังไม่มีทิศทางฟื้นตัวที่ชัดเจน รวมไปถึงทิศทางการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางประเทศแกนหลักต่างๆ ที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของเม็ดเงินลงทุนทั่วโลก

ด้วยความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่สูงนี้เอง อาจทำให้นักลงทุนเกิดคำถามว่า “สินทรัพย์อะไรที่จะสามารถตอบโจทย์การลงทุนในภาวะตลาดผันผวนได้บ้าง” ซึ่งนอกเหนือไปจากการพักเงินในกองทุนรวมตลาดเงินแล้ว การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นกลุ่มที่มีความผันผวนต่อวัฏจักรเศรษฐกิจในระดับต่ำ ในขณะที่เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีรายได้สม่ำเสมอ ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ค่อนข้างสูง และหนึ่งในหุ้นกลุ่มนั้นก็คือ หุ้นกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน

ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานประกอบไปด้วย 2 กลุ่มหลัก คือ

1) กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบไปด้วยธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับคมนาคมขนส่ง ระบบสาธารณูปโภค โทรคมนาคมสื่อสาร และพลังงาน ตัวอย่างเช่น บริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับทางด่วนทางพิเศษ ท่าเรือพาณิชย์ ส่งจ่ายไฟฟ้าและน้ำประปา ผู้ผลิตและติดตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ผู้ให้บริการดาวเทียม ผู้ให้บริการท่อขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงพลังงานทดแทนอย่างพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์

2) กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโรงเรียนรัฐบาล โรงพยาบาลรัฐ หรือเรือนจำพิเศษ

หุ้นในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานเหมาะสำหรับเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุนที่ต้องการใช้เป็นสินทรัพย์ในการกระจายการลงทุนเพื่อช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนได้ เพราะเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความอ่อนไหวต่อสภาวะเศรษฐกิจต่ำ (Defensive Stock) และมีความมั่นคงค่อนข้างสูง ทั้งนี้เนื่องมาจากลักษณะเด่น 3-4 ประการ คือ

1) ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนาต่างก็ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนมหาศาลจากภาครัฐเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของประชากรภายในประเทศ

2) คู่แข่งในอุตสาหกรรมนี้มีค่อนข้างจำกัด โดยมักจะมีผู้แข่งน้อยรายหรือเป็นแบบผูกขาดที่มีการทำสัญญาหรือสัมปทานระยะยาว อีกทั้งคู่แข่งรายใหม่ที่จะเข้ามาก็ต้องใช้เงินลงทุนที่สูงมากและใช้เวลานานในการสร้างมูลค่าของธุรกิจ นอกจากนี้ ปัญหาด้านทรัพยากรที่มีจำกัดก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้คู่แข่งในอุตสาหกรรมนี้มีน้อยราย

3) สินทรัพย์ที่ถือครองสามารถสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอและสร้างกระแสเงินสดได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสินทรัพย์ส่วนใหญ่มีระยะเวลาการใช้งานยาวนานมากกว่า 20 ปีขึ้นไป

4) สินค้าและบริการในกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานบางประเภท เช่น ธุรกิจไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ ระบบขนส่งมวลชน และการสื่อสาร มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เสมือนเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่เรามีความต้องการอยู่ตลอดในทุกๆ สภาวะเศรษฐกิจแม้กระทั่งในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำ

ความน่าสนใจของธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานยังพบว่าเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2558 ดัชนีโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก (Dow Jones Brookfield Global Infrastructure Index) มีมูลค่าราว 7.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเติบโตขึ้นจากสิ้นปี 2551 ที่ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตมากกว่า 250% ภายในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ดัชนีหุ้นโลก (MSCI World NR) มีการเติบโตของมูลค่าตลาดเพียง 95% ในช่วงเวลาเดียวกัน และคาดว่าการเติบโตของเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 70 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี พ.ศ. 2573 (ที่มา : OECD, Fostering Investment in Infrastructure, ม.ค. 2558) นอกจากนี้ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานยังเป็นธุรกิจที่มีการจ่ายปันผลสูง โดยอัตราการจ่ายเงินปันผลเฉลี่ยของดัชนีโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกอยู่ที่ระดับ 4.25% ต่อปี เมื่อเทียบกับดัชนีหุ้นโลกที่จ่ายเงินปันผลเฉลี่ยที่ระดับ 2.59% ต่อปี

สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจุบันมีทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลาย ทางเลือกแรกเป็นการลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งการลงทุนในบริษัทเหล่านี้มักจะต้องใช้เงินลงทุนสูง มีระยะเวลาการลงทุนยาวนาน และมีความยากลำบากในการเปลี่ยนมือผู้ลงทุนหรือขายทอดตลาด รวมถึงมีค่าใช้จ่ายสูงในการวิเคราะห์ตรวจสอบโครงการต่างๆ ทางเลือกที่สอง เป็นการลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย

ปัจจุบันกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ส่วนมากจะมีรายได้และกระแสเงินสดขึ้นอยู่กับโครงการที่เฉพาะเจาะจงกว่ากองทุนที่ลงทุนในหลายโครงการหรือหลายธุรกิจ เพราะหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น ภัยธรรมชาติ หรือนโยบายภาครัฐมีการเปลี่ยนแปลง อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการสร้างผลกำไรของกองทุนได้

ส่วนทางเลือกที่สาม เป็นการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกที่มุ่งเน้นลงทุนในหุ้นและทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก ซึ่งการลงทุนในรูปแบบนี้จะมีการกระจายการลงทุนที่ดีกว่า และช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนกับโครงการใดๆ โครงการหนึ่งเฉพาะ นอกจากนี้ กองทุนยังได้รับการบริหารจัดการผ่านผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยญชาญเฉพาะและมีประสบการณ์ในธุรกิจจัดการลงทุนมายาวนาน ผู้ลงทุนจึงสามารถไว้วางใจได้

ตัวอย่างเช่น กองทุนเปิดเค โกลบอล อินฟราสตรัคเจอร์ หุ้นทุน (K-GINFRA) ของ บลจ.กสิกรไทย ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการเปิดเสนอขายครั้งแรก (IPO) โดยกองทุน K-GINFRA เป็นทางเลือกที่เหมาะสำหรับนักลงทุนทั่วไปที่ต้องการลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานที่มุ่งหวังผลตอบแทนระยะยาว และในมุมมองของการจัดพอร์ตโฟลิโอ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานรวมไปถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นอีกทรัพย์สินที่ผู้ลงทุนน่าจะมีไว้ เพราะมีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอจากการสร้างรายได้ที่ค่อนข้างแน่นอน จึงเป็นหนึ่งในการลงทุนทางเลือกที่น่าสนใจเพื่อกระจายการลงทุนในยามที่ตลาดหุ้นผันผวน และในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำนี้

คำเตือน : ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน จัดทำ ณ วันที่ 16 มีนาคม 2559


กำลังโหลดความคิดเห็น