xs
xsm
sm
md
lg

ESG Corner สู้กับโลกร้อน ต้องแข่งกับเวลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย ณัฐพัช กิตติปวณิชย์
บลจ.บัวหลวง
 
 
สภาวะโลกร้อนนั้นหาใช่ทฤษฎีที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ หลังจากนักวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขาได้ยืนยันถึงลักษณะทางภูมิอากาศอันวิปริตผิดเพี้ยนที่เกิดด้วยน้ำมือมนุษย์ และพลเมืองโลกบางส่วนเริ่มรู้สึกถึงภัยคุกคามจากธรรมชาติที่ก่อตัวตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ทั้งบนพื้นทวีปและในห้วงมหาสมุทร

คำถามสำคัญก็คือ มนุษย์ยังเหลือเวลาอีกเท่าไหร่ ก่อนที่ “ภาวะโลกร้อน” จะทวีความรุนแรงจนนำมนุษยชาติไปสู่ “ปากทาง” ของหายนะทางธรรมชาติที่จะกระทบต่อพลเมืองโลกทุกคน

คำตอบสั้นๆ ก็คือ กว่าที่คนส่วนมากจะรู้ตัวก็อาจจะสายไปเสียแล้ว

นักวิทยาศาสตร์จาก Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ระบุว่า “ปากทาง” ที่ว่านั้นคือจุดที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยในบรรยากาศเพิ่มสู่ระดับ 450 ppm ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นราว 2oC จากระดับอุณหภูมิปกติก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 ในขณะที่ปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยโลกร้อนขึ้นแล้วราว 0.85oC โดยไม่มีแนวโน้มว่าจะชะลอตัวแต่อย่างใด แสดงว่า “ปากทาง” แห่งหายนะใกล้เข้ามาแล้วหรือ ถ้าเราหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ในวันพรุ่งนี้ อุณหภูมิโลกจะลดลงหรือไม่

ผลวิจัยชี้ว่า ตั้งแต่ปัจจัยก่อเหตุจนกระทั่งปรากฏผลลัพธ์ปลายทางว่าเกิดภาวะโลกร้อน เป็นกระบวนการที่กินเวลากว่า 40 ปี นั่นหมายความว่าแม้มนุษย์โลกสามารถละเว้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างสิ้นเชิงในวันนี้ อุณหภูมิเฉลี่ยก็ยังไต่ระดับขึ้นไปอีกราว 0.6oC ในตลอด 40 ปีข้างหน้า

ยิ่งไปกว่านั้น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่กำเนิดจากเชื้อเพลิงถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน ต้องใช้เวลานับพันปีกว่าระดับคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลงอย่างถาวร ด้วยการถูกดูดกลืนกลับสู่พื้นดินตามกระบวนการทางธรรมชาติ สรุปว่าแม้เราจะควบคุมและขจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สำเร็จ แต่อุณหภูมิโลกก็มิได้ลดลงในห้วงเวลาอันใกล้แต่อย่างใด

เราอาจอธิบายสาเหตุที่มนุษย์มิได้ตระหนักต่อหายนะของภาวะโลกร้อนเท่าที่ควร ด้วยจิตวิทยาพฤติกรรมมนุษย์ ตามทฤษฎี “Instant Gratification” และ “Loss Aversion” ซึ่งระบุถึงความกลัวว่าจะสูญเสียบางสิ่งในอนาคตอันใกล้ มากกว่าจะเผชิญหน้ากับปัญหาที่อยู่ไกลออกไป แม้ว่าจะเป็นปัญหาที่ร้ายแรงใหญ่หลวงก็ตาม นอกจากนั้นแล้ว พฤติกรรมจงใจเพิกเฉยต่อปัญหา แถมยังรอให้คนอื่นเริ่มต้นก่อน ที่เรียกกันว่า “Bystander Effect” อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่มนุษย์ยังไม่ลงมือแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจังเสียที อย่างเช่นการใช้น้ำ-ไฟอย่างสิ้นเปลือง เพราะคิดว่าตนใช้เพียงคนเดียวย่อมไม่มีผลใดๆ ในระดับมหภาค หรือกรณีบางประเทศรอให้ประเทศอื่นแสดงความรับผิดชอบ พร้อมกับลงมือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเสียก่อน แล้วตนค่อยเข้าร่วมภายหลัง เป็นต้น

การรวมตัวกันเพื่อสู้กับภาวะโลกร้อนจึงต้องเกิดขึ้น โดยเฉพาะการจัดประชุมผู้นำระหว่างประเทศในชื่อ Conference of the Parties หรือ COP เป็นประจำทุกปี ล่าสุด COP21 จัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2015 ที่กรุงปารีส ได้ข้อสรุปที่น่ายินดี เพราะทั้ง 195 ประเทศได้ตกลงกันว่าจะจำกัดอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 2oC นับเป็นสนธิสัญญาแรกที่มีข้อผูกมัดทุกประเทศสมาชิกอย่างครอบคลุม ขณะที่ประเทศใหญ่ที่เป็นผู้นำปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น สหรัฐฯ หรือจีน ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ต่างจากการตกลงที่ผ่านมา เช่น พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol)

ในแง่ของการลงทุน จากการประชุมระดับโลกที่ชัดเจนนี้กลายเป็นข้อผูกมัดว่า หน่วยงานกำกับดูแลกิจการต่างๆ ในแต่ละประเทศจะต้องตรากฎระเบียบที่เข้มงวดในเรื่องสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น นายเจฟฟรี แซกส์ ผู้บริหารสถาบัน Earth Institute เชื่อว่า นักลงทุนสถาบันจะค่อยๆ ละการลงทุนในกิจการที่ทำลายสภาพแวดล้อม อย่างเช่นบริษัทถ่านหินที่ไม่มีกระบวนการบำบัดมลพิษ ซึ่งต้องเผชิญกับการบังคับใช้ระเบียบข้อบังคับอันเคร่งครัดจนกระทบกระเทือนต่อผลกำไร หุ้นของบริษัทพวกนี้อาจไม่ใช่ตัวเลือกเพื่อลงทุนที่ดีสำหรับกองทุนความเสี่ยงต่ำอีกต่อไป

สำหรับประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งที่ 13 ที่เข้าร่วม Sustainable Stock Exchange : SSE พร้อมทั้งพยายามนำแนวทาง Sustainable Development Goals : SDGs ของสหประชาชาติมาดำเนินการอย่างจริงจัง หนึ่งในเป้าหมายที่ SET กำลังศึกษาทบทวนขณะนี้ คือการปรับเกณฑ์ขั้นต่ำในการจดทะเบียนเข้าร่วมตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยผลักดันให้บริษัทต่างๆ นำหลักเกณฑ์ ESGC : Environmental, Social, Governance, Anti-Corruption ผนวกเป็นหนึ่งในพื้นฐานการบริหาร เช่น ทบทวนว่ายุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจนั้นยั่งยืนหรือไม่ และปรับแผนการของกิจการให้ทันกับสภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง

ในฐานะคนบนโลกหนึ่งคน เราจะต้องเลิกโยนความรับผิดชอบให้คนอื่น และเริ่มมีส่วนลดโลกร้อนด้วยตนเอง เพราะถ้าหากมัวรอให้คนอื่นเริ่มก่อน ก็อาจจะสายเกินกว่าจะเยียวยาได้ และในฐานะผู้ลงทุน สิ่งแรกที่เริ่มได้ก็คือการเลือกลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมไปกับมิติอื่นๆ

ด้าน ESGC เพื่อกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ ตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืน และยังช่วยให้ผู้ประกอบการที่ทำดีอยู่แล้วได้รับแรงสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งยังเพื่อตัวนักลงทุนเอง ให้ปลอดภัยจากความเสี่ยงที่ต้องถือครองหลักทรัพย์ในระยะยาว


กำลังโหลดความคิดเห็น