xs
xsm
sm
md
lg

คาดเหตุโจมตีปารีสปลุกเร้านานาชาติกระตือรือร้นหนุนข้อตกลงลดโลกร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บีบีซี นิวส์ - ผู้นำจากเกือบ 150 ประเทศทั่วโลกนัดประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (COP21) วันจันทร์นี้ (30 พ.ย.) ที่ปารีส ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยเข้มงวด เพื่อวางกรอบโครงการจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระยะยาว โดยผู้สังเกตการณ์เชื่อเหตุโจมตีเมืองหลวงของฝรั่งเศสก่อนหน้านี้ช่วยเพิ่มแนวโน้มที่เหล่าผู้นำจะบรรลุข้อตกลงสำเร็จ

เป็นที่คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมนี้ที่จะมีถึงวันที่ 11 ธันวาคม ถึงประมาณ 40,000 คน ในจำนวนนี้คือผู้นำจาก 147 ประเทศ เทียบกับซัมมิตที่โคเปนเฮเกนเมื่อ 6 ปีที่แล้วที่มีประมุขรัฐและรัฐบาลเข้าร่วมทั้งหมด 115 คน

แม้ผู้นำหลายคนซึ่งรวมถึงประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน เข้าร่วมการประชุมนี้อย่างสม่ำเสมอ แต่เหตุการณ์โจมตีปารีสเมื่อต้นเดือนกระตุ้นให้ผู้นำอีกหลายชาติตัดสินใจเข้าร่วมประชุมด้วยเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับคนฝรั่งเศส

การประชุมครั้งนี้ต่างจากที่โคเปนเฮเกนตรงที่ผู้จัดงานกำหนดให้ผู้นำเข้าประชุมตั้งแต่เปิดงานแทนร่วมหารือในช่วงสุดท้าย ซึ่งล้มเหลวอย่างชัดเจน

เกือบจะไม่มีข้อสงสัยว่า ควันหลงจากเหตุวินาศกรรมปารีสจะเพิ่มโอกาสในการผลักดันข้อตกลงนี้

ทอม เบอร์กี อดีตที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของรัฐบาลอังกฤษและปัจจุบันเป็นประธานกรรมการกลุ่มคลังสมองด้านสิ่งแวดล้อม E3G เชื่อว่า ผู้นำบางคนจะผลักดันแนวคิดที่ว่า การต่อสู้กับสภาพอุณหภูมิที่สูงขึ้นเท่ากับเป็นการขจัดหนึ่งในสาเหตุของลัทธิก่อการร้าย

อย่างไรก็ดี แม้บรรยากาศโดยรวมดูราบรื่น แต่ยังมีประเด็นขัดแย้งสำคัญระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ รูปแบบข้อตกลง โดยอเมริกาไม่ต้องการลงนามข้อตกลงที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เนื่องจากไม่มีแนวโน้มผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาที่ควบคุมโดยพรรครีพับลิกัน และเชื่อว่ารัฐสภาของอีกหลายประเทศก็จะขัดขวางเช่นเดียวกัน

ทว่า ประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง รวมถึงสหภาพยุโรป (อียู) ไม่เห็นด้วย และต้องการให้ข้อตกลงมีผลผูกพันทางกฎหมาย

นอกจากนั้นยังมีความเห็นแตกต่างหลากหลายในประเด็นเป้าหมายระยะยาวของข้อตกลง กล่าวคือแม้มีการสนับสนุนอย่างเปิดเผยในการจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ทว่า ยังคงมีข้อโต้แย้งในการนำเสนอแนวคิดนี้ เนื่องจากบางประเทศเห็นว่า ควรกำหนดมาตรฐานไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสแทน และประเทศอื่นๆ ต้องการหารือเกี่ยวกับการกำจัดก๊าซคาร์บอนทั่วโลกภายในช่วงกลางหรือปลายศตวรรษนี้ ซึ่งในสายตาผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ถือว่า แนวคิดนี้น่ารังเกียจอย่างยิ่ง

และแม้ข้อเท็จจริงที่ว่า จุดแข็งของการประชุมนี้คือการที่กว่า 180 ประเทศผลักดันแผนการในประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังคงมีคำถามสำคัญเกี่ยวกับการตรวจยืนยันว่า พันธะสัญญานี้จะได้รับการดำเนินการอย่างแท้จริงหรือไม่

ท็อดด์ สเติร์น หัวหน้าคณะเจรจาของสหรัฐฯ ชี้ว่า ผู้เข้าร่วมการเจรจาและผู้สังเกตการณ์ภายนอกจะต้องสามารถไว้ใจและเชื่อมั่นในสิ่งที่ประเทศต่างๆ กำลังจะทำ

กระนั้น แม้มีฉันทามติบางส่วนในบรรดาภาคีว่า จำเป็นต้องทบทวนแผนการทุก 5 ปี แต่กลับไม่มีการไถ่ถามถึงข้อจำกัดในเชิงลงโทษประเทศที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนด

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องเงินทุน เนื่องจากแม้ประเทศมั่งคั่งสัญญาจะให้เงินสนับสนุน 100,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2020 ทว่า การจ่ายเงินสมทบกลับล่าช้ามาก และจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีข้อตกลงว่า จะเกิดอะไรขึ้นหลังปี 2020

และแม้มีการมองแง่ดีว่า ผู้ร่วมประชุมกระตือรือร้นที่จะบรรลุข้อตกลง แต่กลับไม่มีการรับประกันความสำเร็จ หลายคนเชื่อว่า ประเทศอย่างอินเดียที่ประชากรเกือบ 300 ล้านคนไม่มีไฟฟ้าใช้ จะไม่ยอมลงนามข้อตกลงจำกัดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเคร่งครัดขึ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง กระบวนการทั้งหมดจะหยุดลงโดยปริยาย

ทอม เบอร์กี เชื่อว่าเหตุผลหนึ่งที่จะทำให้ทุกคนพบว่ายากที่จะต้านกระแสได้ในตอนจบคือ ระดับต้นทุนทางการเมืองที่โอบามาลงไปกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะทำให้ประเด็นนี้เป็นมรดกสำคัญที่ผู้นำสหรัฐฯ ฝากไว้ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น