โดย ณัฐพัช กิตติปวณิชย์
บลจ.บัวหลวง
หลายปีมานี้เครื่องมือและวิธีการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ในตลาดทุนทั่วโลกมีความหลากหลายมากมายขึ้น สร้างช่องทางใหม่ๆ ให้นักลงทุนวางแผนทางการเงิน และใช้เทคนิคต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ เช่น ใช้อนุพันธ์ช่วยป้องกันและกระจายความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ความซับซ้อนที่มาพร้อมกับเครื่องมือลงทุนเหล่านี้อาจเป็นดาบสองคมที่บาดใส่ผู้ลงทุนเสียเอง หรือกระทั่งทำให้ระบบเศรษฐกิจเสียหายได้หากไม่มีการควบคุมหรือตรวจสอบอย่างเข้มงวดพอ
ในอดีตเคยเกิดกรณีศึกษามาแล้ว กรณีแชร์ลูกโซ่อันอื้อฉาว Ponzi Scheme การซื้อขายตราสารอนุพันธ์ในตลาดที่ไม่เป็นทางการ (OTC derivatives) โดยขาดการกำกับดูแล และฟองสบู่ที่เกิดจากการทำสวอปการผิดชำระหนี้ CDS (Credit Default Swaps) ในเครื่องมือการลงทุนที่มีหนี้สินภาคอสังหาฯ เป็นพื้นฐาน (MBS) ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นต้นทางของวิกฤตทางการเงินปี 2007-08
เมื่อย้อนกลับไปสมัยวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ปี 1996-97 จะพบปัจจัยที่ทำให้ตลาดการเงินล่มสลายในครั้งนั้น คล้ายกับวิกฤตการเงินปี 2007-08 อยู่หลายประการ สาเหตุหนึ่งก็คือการปล่อยกู้ระยะสั้นที่ก่อให้เกิด “ฟองสบู่” ในราคาสินทรัพย์ ซึ่งเกิดจากความย่อหย่อนของการกำกับดูแล จนถึงขั้นปล่อยปละให้เกิดการปล่อยสินเชื่ออย่างไม่มีประสิทธิภาพ จนทำให้สิ่งก่อสร้างอาคารและที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นสินค้าประเภท non-tradable ล้นเกินความต้องการของผู้บริโภค
โดยในปี 1997 อัตราว่างของพื้นที่พาณิชย์ปรับขึ้นเป็น 15% ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถชำระเงินคืนสถาบันการเงินได้ตามกำหนด ประกอบกับแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปี 1996 ที่เพิ่มสูงเป็น 13% ของหนี้สินทั้งหมด สุดท้ายแล้วจึงเกิดภาวะเงินทุนไหลออกจนกดดันค่าเงินบาท ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่สามารถปกป้องค่าเงินได้อีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของไทยสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ค่อนข้างรวดเร็ว โดยเติบโตได้ 7.1% ในปี 2003 ภายหลังหดตัวถึง 10.5% ในปี 1998 สืบเนื่องจากการปรับปรุงระบบตรวจสอบในภาคการเงินอันเข้มงวดและเข้มข้นยิ่งขึ้น ภายใต้แบบแผนการปฏิรูปจาก IMF ประกอบกับนโยบายทางเศรษฐกิจที่รัดกุม เงินลงทุนที่เข้ามาจากญี่ปุ่น และการเติบโตของการค้าและเศรษฐกิจโลกโดยรวม ช่วยหนุนให้ภาคผลิตและส่งออกกลับมาผลักดันเศรษฐกิจในช่วงนั้นให้เติบโตได้
วิกฤตการณ์ทางการเงินที่กระทบต่อผู้ลงทุนและประชาชนทั่วไป เป็นเหตุผลว่าทำไมการกำกับดูแลที่ดีจากภาครัฐฯ จึงเป็นเรื่องสำคัญ รวมไปถึงการตรวจสอบนโยบายพื้นฐานและธรรมาภิบาลที่ดีของบริษัทเอกชนที่เราจะเข้าไปลงทุน เพราะหากไม่ใส่ใจด้านนี้เสียแล้ว ก็อาจทำให้ทั้งผู้ลงทุนและประชาชนทั่วไปเจ็บตัวได้อย่างเช่นในอดีตที่ผ่านมา
โดยกองทุนบัวหลวงตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างดี ทำให้ต้องมีทีมงานที่คอยติดตามและวิเคราะห์ข่าวสารเกี่ยวกับ ESG อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงให้แก่ผู้ลงทุน และสนับสนุนการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยไปพร้อมกัน
ข้อมูล Lindgren, Carl-Johan, Tomás J.T. Baliño, Charles Enoch, Anne-Marie Gulde, Marc Quintyn, and Leslie Teo. "Financial Sector Crisis and Restructuring: Lessons from Asia." International Monetary Fund. 21 July 2001. Web. 13 Jan. 2016.
"A Good Look at the Thai Financial Crisis in 1997-98." Columbia University. Web. 13 Jan. 2016.