โดยบริษัท แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้งกับคอลัมน์ดีๆ ที่ช่วยแนะนำการวางแผนทางการเงินด้วยแนวคิด “วางแผนการเงิน..แค่คิดชีวิตก็เปลี่ยน” สำหรับวันนี้ผมจะขอมาย้ำและนำเสนอในเรื่องการวางแผนการเงินอีกครั้ง ซึ่งหลายท่านได้มีการวางแผนทางการเงินกันอยู่แล้ว ซึ่งบางท่านอาจจะทำโดยที่ท่านไม่รู้ตัว เช่น การฝากเงิน การซื้อกองทุน การซื้อบ้าน คอนโดฯ ที่ดิน รวมถึงการทำประกันไว้บ้าง แต่ถ้าเราให้เวลาและใส่ใจกับสิ่งเหล่านี้เพิ่มขึ้นอีกสักหน่อย เช่น มีเป้าหมายว่าจะใช้เงินทำอะไรหรือจะหาเงินมาออมเพิ่มได้อย่างไร ก็คงจะช่วยให้ความฝันของเราเป็นจริงเร็วยิ่งขึ้น
ดังนั้น สิ่งแรกที่เราควรทำในการวางแผนทางการเงินก็คือ “การกำหนดเป้าหมายหรือกำหนดสิ่งที่เราต้องการก่อน” ซึ่งเป้าหมายนั้นอาจจะแตกต่างกันไปตามความต้องการของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบ้านใหม่ คอนโดฯ ใหม่ หรือรถคันใหม่ การไปท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือการอยากคิดที่จะเกษียณตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่ว่าจะมีความต้องการแบบใดก็ตามให้ลองเลือกมาสักข้อ สองข้อแล้ววางแผนที่จะไปถึงมันให้ได้ ก็จะช่วยให้เรามีกำลังใจในการดำเนินการตามแผนที่วางไว้มากขึ้น
โดยที่เป้าหมายนี้จะทำให้เราเห็นถึงความต้องการของตัวเองอย่างชัดเจน และจะช่วยให้สามารถคาดคะเนระยะเวลาที่เราจะต้องเก็บออม หรือลงทุน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ และยังเป็นตัวกำหนดให้เรารู้จักคิดคำนวณล่วงหน้าว่าเราจะวางแผนใช้เงินอย่างไร จะกระทบกับแผนที่เราวางไว้หรือไม่ โดยการกำหนดเป้าหมาย ควรแบ่งออกเป็น “เป้าหมายระยะสั้น” และ “เป้าหมายระยะยาว”
เป้าหมายระยะสั้น คือ การวางแผนสั้นๆ ไม่เกิน 1 ปี เพราะถ้าเราวางแผนเฉพาะระยะยาวเพียงอย่างเดียวแล้ว เราอาจจะเกิดอาการท้อขึ้นมาได้ เนื่องจากว่าระยะเวลาที่นานเกินไป และไม่บรรลุเป้าหมายสักที ดังนั้น การตั้งเป้าหมายระยะสั้น เป็นเหมือนการให้รางวัลชิ้นเล็กๆ แก่ตัวเราเพื่อให้เรามีกำลังใจที่จะทำตามแผนต่อไป ตัวอย่างเป้าหมายระยะสั้น ก็อย่างเช่น การไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ การเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ แม้กระทั้งการเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านใหม่ เป็นต้น
เป้าหมายระยะยาว คือ การวางแผนการเงินสำหรับสิ่งที่เราต้องการในอนาคตข้างหน้า โดยที่เป้าหมายมีระยะเวลาตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจจะเป็น 2 ปี 5 ปี 10 ปี หรือมากกว่านั้น โดยเป้าหมายระยะยาวถือเป็นเป้าหมายหลักที่ทำให้เราต้องมาลงมือทำเรื่องการวางแผนทางการเงิน เพราะความต้องการเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ต้องใช้เงินเยอะ ยิ่งถ้าเราต้องการความสุขมากเท่าไหร่เราก็ต้องการเงินเยอะขึ้นเท่านั้น เราจึงต้องมีแผนการออม การลงทุน ที่รัดกุมและรอบคอบมากยิ่งขึ้น โดยที่เป้าหมายระยะยาว ก็อย่างเช่น การซื้อรถยนต์ บ้าน คอนโดฯ การส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ รวมถึงการเก็บเงินสำหรับแต่งงาน เป็นต้น
โดยเมื่อเราตั้งเป้าหมายได้ทั้งระยะสั้น และระยะยาวแล้ว เราจะพบว่ารายการไหนที่เราต้องการทำก่อนหลัง รายการไหนที่จำเป็นมากหรือน้อยเพียงใด รวมถึงรายการไหนต้องเตรียมวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ แล้วเลือกจัดเรียงแบ่งประเภท แล้วทำการวางแผนทางการเงินได้เลย โดยมีขั้นตอนการวางแผนทางการเงินให้เราประสบความสำเร็จได้อย่างง่ายๆ เพียง 4 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนแรก การเข้าใจและสำรวจความต้องการของตัวเอง สิ่งที่จะต้องทำและต้องยอมรับให้ได้เป็นอันดับแรกก็คือ การยอมรับตัวเอง การรู้จักนิสัยทางการเงินของตัวเอง เงื่อนไข ข้อจำกัด และความพร้อมที่จะรับความเสี่ยงได้มากหรือน้อยเพียงใด เมื่อทราบแล้วจะได้มาปรับใช้ในการวางแผนการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการออม และการลงทุนที่เหมาะสม เช่น ถ้าคุณเป็นคนที่พื้นฐานการเงินไม่แน่น แต่เลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ก็ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูง ประกอบกับความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างมาก ไม่อย่างนั้นก็อาจจะทำให้เรามีโอกาสสูญเสียเงินมากกว่าที่จะได้รับเงินก็ได้
ขั้นตอนที่สอง กำหนดยระยะเวลาและเป้าหมายที่แน่นอน การกำหนดเป้าหมายนั้น ควรกำหนดสิ่งที่สามารถเป็นจริงได้ ไม่กำหนดในสิ่งที่เพ้อฝัน เช่น “จะเป็นเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกภายใน 5 ปี หรือรวยที่สุดในประเทศภายใน 3 ปี” อะไรอย่างนี้ก็เป็นการกำหนดเป้าหมายที่ไม่สามารถเป็นไปได้ และจะทำให้เป้าหมายของเราล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น การกำหนดเป้าหมายและระยะเวลาที่ดีนั้นต้องคำนึงถึงว่าเราต้องการอะไร อยากจะเป็นอยู่อย่างไร เราจะต้องใช้เงินเท่าไร และเรามีเวลาในการหาเงินนั้นอีกเท่าไร ลองเขียนรายการเหล่านี้ออกมาดู โดยดูเป้าหมายที่เป็นไปได้ สมเหตุสมผลและปฏิบัติได้ เช่น อยากจะไปเที่ยวประเทศยุโรป ซึ่งต้องใช้เงินประมาณ 150,000 บาท เราก็อาจจะตั้งเป้าหมายว่า ใน 3 ปีนี้เราจะบริหารเงินให้ได้มากกว่า 150,000 บาท โดยการเก็บเงินเดือนละประมาณ 4,500 บาท แต่ถ้าต้องการไปภายใน 2 ปี ก็อาจจะหาวิธีลงทุนที่มีผลตอบแทนมากกว่าเพื่อให้สำเร็จตามที่ต้องการ เป็นต้น
ขั้นตอนที่สาม กำหนดสัดส่วนเพื่อใช้เงินอย่างเหมาะสม เมื่อเรามีเป้าหมายทั้งในระยะสั้นและระยะยาวแล้ว ก็จะทำให้เรามีตัวเลขเงินที่อยู่ในใจ ก็จำเป็นที่ต้องหาวิธีที่ให้ได้เงินก้อนนั้นมา โดยพื้นฐานแล้วสิ่งสำคัญที่สุดคือการจัดสัดส่วนรายได้ รายจ่ายให้เหมาะสม โดยค่าใช้จ่ายอาจจะแบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นประจำ เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าผ่อนรถ ค่าเช่าบ้าน ผ่อนค่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบัตรเครดิต ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น ส่วนอีกอย่างหนึ่งเราจะเรียกว่า ค่าใช้จ่ายพิเศษ เช่น ค่าเครื่องแต่งกาย ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการเข้าสังคม และบันเทิง เป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะจำเป็นน้อยกว่าค่าใช้จ่ายส่วนแรก เมื่อมีรายได้เข้ามาเราควรกันเงินไว้ให้ค่าใช้จ่ายประจำที่จำเป็นก่อน ส่วนรายจ่ายเพื่อความสุขนั้นเอาไว้ทีหลังก็ได้
ขั้นตอนสุดท้าย ลงมือและปรับแผน รวมไปถึงการปรับตัวตามแผน คนเราเมื่อมีความคิดดีๆ ก็ต้องลงมือทำด้วยจึงจะประสบความสำเร็จ ในขั้นตอนนี้ถือว่าสำคัญที่สุด เพราะไม่ว่าเราจะวางแผนดีเพียงใด ถ้าหากไม่ลงมือทำแล้วก็เหมือนรถที่ไม่ได้วิ่ง ซึ่งในช่วงที่มีการดำเนินตามแผนอาจจะต้องมีการปรับแผน เช่น การลดค่าใช้จ่ายในบางรายการ หรือการลดเพดานเป้าหมายลง ทั้งนี้จะต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่าจะต้องเป็นไปได้และมีความสุขทั้งตอนนี้และในอนาคต
จากที่กล่าวมาทั้งหมดในวันนี้ผมคิดว่าท่านผู้อ่านได้รับความรู้เกี่ยวกับการวางแผนการเงินด้วยการตั้งเป้าหมายในแบบระยะสั้นและระยะยาวมากพอสมควร ว่าเราควรจะต้องวางแผนจัดการกับเป้าหมายของตัวเองอย่างไร จึงจะทำให้บรรลุเป้าหมายที่ได้วางไว้ แล้วกลับมาพบกันได้ใหม่ในฉบับหน้า สำหรับวันนี้สวัสดีครับ แล้วคุณจะรู้ว่าเรื่องวางแผนการเงินไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป