xs
xsm
sm
md
lg

“กับข้าวกับปลา” กับ “ฮาลาล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ บัวหลวง Money Tips
โดย จันทร์เพ็ญ กิตติเวทย์วิทยา
บลจ.บัวหลวง

“ฮาลาล” แปลว่า “อนุมัติ” หริอ “อนุญาต” แต่ในที่นี้หมายความถึง “สิ่งของหรือการกระทำใดๆ ทั้งการผลิต การให้บริการ หรือการจัดจำหน่าย ที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนาอิสลาม”

ประชากรมุสลิมหรือผู้นับถือศาสนาอิสลามมีมากกว่า 1,700 ล้านคน คิดเป็น 24% ของคนทั้งโลก ในจำนวนนี้กว่า 1,000 ล้านคนพำนักอาศัยอยู่ในเอเชีย โดยเฉพาะอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลกกว่า 200 ล้านคน รองลงมาคืออินเดียที่มีกว่า 180 ล้านคน ถือเป็นกลุ่มคนที่มีพลังบริโภคขนาดใหญ่

อาหารฮาลาล (Halal Food) เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตมุสลิม ซึ่งมีอัตราการบริโภคที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในวันนี้มูลค่าตลาดของอาหารฮาลาลสูงกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว ประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลรายใหญ่ของโลก คือ ออสเตรเลีย บราซิล อาร์เจนตินา และแคนาดา เป็นต้น

ขณะที่อาหารฮาลาลจากผู้ประกอบการไทยก็ได้รับความนิยม และมีอัตราการเติบโตสูงเช่นกัน เพราะไทยคือผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มฮาลาลอันดับ 11 ของโลก รวมมูลค่าส่งออกกว่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

เนื่องจากสินค้าไทยเป็นที่ยอมรับด้านคุณภาพ รวมทั้งที่ตั้งประเทศยังเป็นแหล่งวัตถุดิบการเกษตรชั้นเยี่ยมของโลก โดยเฉพาะวัตถุดิบอาหารฮาลาล เช่น กุ้ง ไก่ อาหารทะเล เป็นต้น

ศักยภาพดังกล่าวประจักษ์ไปถึงมาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านที่มีคนมุสลิมจำนวนมาก เล็งเห็นโอกาสด้านนี้ในไทย โดยภาคเอกชนอย่าง GMC International Holding ซึ่งลงทุนในอุตสาหกรรมฮาลาล และผลิตจักรยานยนต์ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ให้จังหวัดอุดรธานีเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมฮาลาล รวมทั้งจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ (บิ๊กไบค์) เพื่อส่งออกไปยังกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

อย่างไรก็ตาม สินค้าฮาลาลไทยที่ผ่านการรับรองส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ภายในประเทศเท่านั้น ขณะที่ผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกจำนวนมากยังขาดตราประทับรับรองฮาลาล ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เร่งรัดพัฒนามาตรฐานการผลิตให้ได้มาตรฐานฮาลาลอย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้ผ่านการรับรองมากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าว่าต้องเป็นอันดับที่ 1 ในการส่งออกสินค้าฮาลาลภายในปี 2562

ด้วยความมุ่งมั่นดังกล่าว ประเทศไทยได้จัดการประชุมวิชาการและการแสดงสินค้านานาชาติ หรือ “Thailand Halal Assembly 2015” ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เพื่อแสดงถึงวัฒนธรรมและนวัตกรรมฮาลาล และเปิดตัวฐานข้อมูลวัตถุดิบฮาลาลโดยในชื่อ H4E (Halal Number for E Number) เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการที่ต้องการวัตถุดิบฮาลาลเกิดความสะดวกยิ่งขึ้น

ฮาลาลมิได้จำกัดแค่อาหารเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันกับผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นที่คนมุสลิมใช้อุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน จึงยังสามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมาก เช่น อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อรองรับการติดฉลากสินค้าฮาลาลไปยังต่างประเทศ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่โรงแรมหรือที่พักต้องปรับตัวให้เข้ากับหลักอิสลาม (ไม่มีแหล่งเริงรมย์ อบายมุข แยกสระว่ายน้ำชาย-หญิง ฯลฯ) พัฒนา mobile application เพื่อค้นหาร้านอาหารฮาลาล รวมถึงการพัฒนาช่องทางค้าปลีกฮาลาลที่ผู้ประกอบการไทยควรสนใจ เนื่องจากเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลได้โดยตรง

อนาคตของธุรกิจฮาลาลในประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก ภายใต้ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เพราะตลาดมิใช่แค่ในประเทศเท่านั้น แต่เป็นประชากรมุสลิมที่เติบโตอยู่ทั่วโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น