xs
xsm
sm
md
lg

จัดทำฐานข้อมูลอาหารฮาลาล บุกตลาด 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน” ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้จัดการรายวัน 360 - ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ จัดงาน “Thailand Halal Assembly 2015” แสดงศักยภาพของกิจการฮาลาลไทยให้ประชาคมโลกรับรู้ พร้อมเผยข้อมูลวัตถุดิบฮาลาล Halal Number for E Number ระบุไทยยังมีโอกาสเจาะตลาดอาหารฮาลาลโลกมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จากปัจจุบันที่ส่งออกเพียง 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานการจัดงาน “Thailand Halal Assembly 2015” ระหว่างวันที่ 25-27 ธันวาคม 2558 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นงานด้านกิจการฮาลาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยร่วมมือกับ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย เพื่อแสดงถึงวัฒนธรรมและนวัตกรรมฮาลาลเพื่อเศรษฐกิจฮาลาล พร้อมทั้งศักยภาพของกิจการฮาลาลประเทศไทยให้ประชาคมโลกได้รับรู้

การประชุมวิชาการและการแสดงสินค้านานาชาติ “Thailand Halal Assembly 2015” ประกอบด้วยนิทรรศการดิจิตอลวิทยาศาสตร์ฮาลาล, การจับคู่เจรจาทางธุรกิจฮาลาล รูปแบบใหม่, การประชุมองค์กรรับรองฮาลาลนานาชาติ, งานประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรมและธุรกิจ ครั้งที่ 8 (HASIB 8th), การเสวนาในหัวข้อต่างๆ และงานแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 200 บูท พร้อมไฮไลท์พิเศษคือ การเปิดตัวฐานข้อมูลวัตถุดิบฮาลาลที่ใช้ชื่อว่า H4E หรือ Halal Number for E Number เป็นการเพิ่มฐานข้อมูล Halal Number เพื่อเป็นช่องทางในการตัดสินใจของผู้ประกอบการที่ต้องการวัตถุดิบฮาลาล

“โดยปกติในอุตสาหกรรมทั่วไปส่วนใหญ่จะรู้จัก E number แต่ในกรณีของผลิตภัณฑ์ฮาลาลจะนำ E Number มาใช้โดยตรงไม่ได้ เพราะบางตัวไม่ฮาลาล จึงต้องปรับปรุงข้อมูลขึ้นใหม่เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล ดังนั้นจะต้องหาฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมฮาลาล โดยเรียกว่า H number หรือ H for E ซึ่งคือการนำเอา H เข้ามาทดแทน E ให้ได้ทั้งหมด ซึ่งถือเป็นโครงการใหญ่ที่ได้ทำการวิเคราะห์มาตลอดระยะเวลา 10 ปี โดยได้วิเคราะห์ผลิตภัณฑ์มาแล้วกว่า 8 พันผลิตภัณฑ์ มีโรงงานเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 554 โรงงาน มีคนงานที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ 1.5 แสนคน”

รศ.ดร.วินัยกล่าวด้วยว่า ในอนาคตอาหารฮาลาลจะเป็นแหล่งรายได้สำคัญทางเศรษฐกิจทั้งเรื่องการส่งออกและการท่องเที่ยว ดังจะเห็นได้จากนตลาดอาหารฮาลาลโลกมีมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ขณะที่ประเทศไทยมีการส่งออกในสัดส่วนแล้วไม่ถึง 0.5% คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ จึงทำให้ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก โดยเมื่อพิจารณาจากตลาดอาหารฮาลาลโลกแล้วพบว่า ตลาดฮาลาลมีโอกาสขยายไปยังในตลาดที่มิใช่มุสลิมมากขึ้น จากสัดส่วนตลาดมุสลิมประมาณ 20% ของตลาดโลก โดยกล่าวกันว่าอาจขยายตัวถึง 89% ของตลาดอาหารโลก หรือครอบคลุมประชากร 6.4 พันล้านคนจากประชากรทั้งโลก 7.2 พันล้านคน ไม่ใช่จำกัดเฉพาะตลาดมุสลิม 1.8 พันล้านคนเท่านั้น



กำลังโหลดความคิดเห็น