xs
xsm
sm
md
lg

รัฐตั้งเป้าส่งเสริมธุรกิจ “ฮาลาล” ขึ้นแท่นอันดับหนึ่งปี 62

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน” ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้จัดการรายวัน 360 - ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ เดินหน้าพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ฮาลาล ขานรับนโยบายรัฐบาลผลักดันสู่เป้าหมายผู้ส่งออกอันดับหนึ่งจากปัจจุบันที่รั้งอันดับ 12

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานการจัดงาน “Thailand Halal Assembly 2015” กล่าวว่า จากการจัดงาน Thailand Halal Assembly 2015 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัวฐานข้อมูลวัตถุดิบฮาลาล “H4E” หรือ “Halal Number for E Number” ซึ่งเป็นการเพิ่มฐานข้อมูล Halal Number เพื่อเป็นช่องทางในการตัดสินใจของผู้ประกอบการที่ต้องการวัตถุดิบฮาลาล ซึ่งนอกจากเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อผู้บริโภคแล้วยังเป็นประโยชน์ต่อสถานประกอบการต่างๆ อีกด้วย

โครงการดังกล่าวได้ทำการวิเคราะห์มาตลอดระยะเวลา 10 ปีจากตัวอย่างกว่า 8 พันผลิตภัณฑ์ มีโรงงานเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 554 โรงงาน และมีคนงานที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ 1.5 แสนคน ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ประเทศอื่นยังขาดศักยภาพที่จะทำได้ โดยปัจจุบันประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลไปยังกลุ่มประเทศองค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC) เป็นอันดับที่ 12 ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย (อันดับที่ 7) และมาเลเซีย (อันดับที่ 11) ขณะที่ยุทธศาสตร์การส่งเสริมธุรกิจและการค้าฮาลาลของรัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ว่าประเทศไทยจะก้าวขึ้นสู่อันดับหนึ่งภายในปี 2562

การส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลมีส่วนในการยกระดับผลิตภัณฑ์โดยรวมของประเทศ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ จึงได้จัดโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่ไม่ใช่มุสลิมขึ้น โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการนี้ถึง 4 พันราย แสดงให้เห็นว่าการผลิตสินค้าที่มีตรารับรองมาตรฐานฮาลาลถือเป็นสิ่งสำคัญและยังเป็นโอกาสดีในการเพิ่มรายได้เข้าสู่ประเทศ ถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญทางเศรษฐกิจทั้งเรื่องการส่งออก และการท่องเที่ยว



กำลังโหลดความคิดเห็น