โดย ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด
ปัจจุบันเมื่อเปิดบัญชีลงทุน ไม่ว่าจะเป็นบัญชีกองทุน หรือบัญชีหุ้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือแบบสอบถามเพื่อประเมินระดับความเสี่ยงในการลงทุนที่เหมาะสม (suitability test) เพื่อให้ทราบว่าเราสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด และเหมาะสมกับการลงทุนประเภทใด เพราะการที่นักลงทุนต้องการผลตอบแทนสูงย่อมตามมาด้วยความเสี่ยงที่สูงด้วย เพราะฉะนั้นการลงทุนที่ดีจึงไม่ใช่การมุ่งหาผลตอบแทนสูงสุดเพียงอย่างเดียว แต่ควรพิจารณาด้วยว่าเราสามารถรับความเสี่ยงได้แค่ไหน
เช่น หากเราลงทุนด้วยการซื้อหุ้นเพียงตัวเดียวเข้าพอร์ต ย่อมมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้สูงหรืออาจจะขาดทุนได้สูงเช่นกัน โดยการลงทุนเช่นนี้เป็นการลงทุนแบบกระจุกตัวสูง (High concentration) ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับนักลงทุนที่เจอภาวะการขาดทุนอย่างหนักย่อมไม่ใช่สิ่งที่นักลงทุนทุกคนจะยอมรับได้ และถ้าหุ้นที่เลือกไม่ใช่หุ้นที่ดีจริง พอร์ตลงทุนก็อาจจะขาดทุนถาวรไปเลยก็เป็นได้ ด้วยเหตุนี้การลงทุนที่ต้องการเพียงผลตอบแทนที่สูง โดยไม่พิจารณาถึงความเสี่ยงหรือความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จึงไม่ใช่แนวทางที่ดีนักสำหรับผู้ที่อยากจะประสบความสำเร็จจากการลงทุนระยะยาวเลยครับ
สำหรับแนวคิดเรื่องการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน (diversification) เช่น การลงทุนในหุ้นหลายๆ ตัว ก็จะเป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หมายความว่าแทนที่เราจะลงทุนทั้งพอร์ตในหุ้นตัวเดียว เราปรับการลงทุนโดยกระจายการลงทุนออกไปยังหุ้น 10 ตัว สิ่งที่จะพบคือ ในแต่ละวันหุ้นในพอร์ตบางตัวอาจจะติดบวก บางตัวอาจจะติดลบ พฤติกรรมที่หุ้นผลัดกันขึ้นผลัดกันลงเช่นนี้ คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้การกระจายความเสี่ยงไปในหุ้นหลายๆ ตัวช่วยลดความผันผวนของพอร์ตโดยรวมได้
แม้ว่าการกระจายความเสี่ยงจะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตลงทุนได้ แต่ในบางภาวะก็ดูเหมือนวิธีนี้จะไม่ช่วยให้พอร์ตการลงทุนปลอดภัยได้อย่างที่คิด หากมองย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่ตลาดการเงินเกิดวิกฤต เช่น วิกฤตซับไพรม์ในปี 2008 หรือวิกฤตยูโรในปี 2011 และในอีกหลายๆ ภาวะที่มีการตื่นตระหนกของนักลงทุน หรือแม้กระทั่งในภาวะที่ตลาดกำลังกลับตัวเป็นขาลงครั้งใหญ่ เราจะเห็นค่าความผันผวนของตลาด (market volatility) สูงกว่าปกติเป็นอย่างมาก หุ้นในตลาดจึงแสดงอาการผิดปกติคือจะขึ้นหรือลงพร้อมกันหมดทั้งตลาด เราเรียกภาวะนี้ว่า หุ้นกำลังถูกความเสี่ยงตลาด (market risk) ครอบงำ ในกรณีนี้เราต้องกระจายความเสี่ยงด้วยการจัดสรรเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ประเภทอื่น (Asset Allocation)
ตัวอย่างเช่น หากเราถือหุ้น 90% ของพอร์ต เมื่อตลาดเกิดความผันผวนสูงขึ้นอันเนื่องมาจากความเสี่ยงตลาดสูงขึ้นจนครอบงำหุ้นทุกตัว การกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในหุ้นจำนวนตัวมากขึ้นจะไม่ช่วยอะไรเลยครับ สิ่งที่ควรจะทำคือ ควรลดสัดส่วนหุ้นในพอร์ตลง เช่นลดหุ้นเหลือ 40% ของพอร์ต แล้วกระจายเงินลงทุนไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นที่แตกต่างกันออกไป เช่น ตราสารหนี้ พันธบัตร หรือเงินฝากเป็นต้น
ท่านคงเคยได้ยินสุภาษิตที่ว่า “น้ำเชี่ยวอย่าเอาเรือไปขวาง” นะครับ ดูจะยังคลาสสิก และใช้ได้เสมอกับตลาดหุ้น การพยายามอย่างหนักเพื่อจะเลือกหุ้นในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม อาจเปรียบเสมือนการล้วงมือลงไปควานหาเพชรในเตาถ่านที่กำลังแดงร้อน กว่าจะได้เพชรมาเม็ดหนึ่ง เราอาจจะต้องเสียนิ้วมือทั้งสิบไปเสียก่อน หรือที่เลวร้ายที่สุดคือเราหลงคิดไปเองว่าเพชรเม็ดนั้นมีอยู่จริง ทั้งที่จริงแล้วในเวลานั้นยังไม่มี คงดีหากเราลดความคาดหวังที่จะได้หุ้นราคาถูกที่สุด และรู้จักจัดสรรเงินลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงของตลาดโดยรวม ไม่เช่นนั้นแล้วคำว่า “ช้อนจนช้อนหัก” เหมือนจะขำ แต่จริงๆ ไม่ขำ ก็จะยังคงเป็นวาทกรรมคู่ตลาดหุ้นไทยเช่นนี้ตลอดไป
สำหรับนักลงทุนที่ไม่มีเงินลงทุนเพียงพอที่จะกระจายการลงทุนในหุ้นหลายๆ ตัวก็สามารถลงทุนผ่านกองทุนหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ได้เช่นกัน ซึ่งปัจจุบัน บลจ.แต่ละที่ก็นำเสนอกองทุนให้นักลงทุนได้เลือกลงทุนอย่างหลากหลาย เช่น กองทุนหุ้นในประเทศ หรือกองทุนหุ้นต่างประเทศ เช่น กองทุนหุ้นยุโรป กองทุนหุ้นจีน หุ้นทั่วโลก และยังรวมถึงกองทุนประเภทอื่นๆ เช่น กองทุนตราสารหนี้ หรือกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ การพิจารณาลงทุนควรขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของนักลงทุนแต่ละท่าน ตลอดจนภาวะความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นขณะนั้นด้วยครับ