xs
xsm
sm
md
lg

ส่องทิศทางเศรษฐกิจปี 2559 บลจ.มองตลาดสดใสปัจจัยบวกหนุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เศรษฐกิจที่กำลังเดินย่างก้าวเข้าสู่ปี 2559 พร้อมกับการคาดหวังว่าจะดีกว่าในปีที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนให้การจับตามองเพราะเกี่ยวเนื่องถึงปากท้องของทุกคน ไม่เฉพาะแต่เรื่องของการลงทุน จากการคาดการณ์ของ บลจ. ที่มองแนวโน้มในปี 2559 มีเรื่องน่าสนใจมาให้ติดตามกัน ทั้งเศรษฐกิจไทย และต่างประเทศ

ดร.สมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด เปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2558 ค่อนข้างน่าผิดหวัง เพราะการลงทุนของภาครัฐที่ล่าช้าออกไป การส่งออกที่แย่ และปัญหาภัยแล้ง แต่ในปี 2559 การลงทุนภาครัฐมีความชัดเจน โดยเฉพาะการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้น และมีเงินออกมาจริงๆ ในช่วงปลายปี การส่งออกน่าจะดีขึ้นจากเศรษฐกิจโลกมีการเติบโต รวมทั้งราคาน้ำมันที่ตอนนี้อยู่ในระดับต่ำเกินไป ซึ่งคาดว่าน่าปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปีหน้า ดังนั้น โดยรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ไม่น่าจะแย่ลงมากเท่าปี 2558 ทาง บลจ.กรุงไทยคาดการณ์จีดีพีของเศรษฐกิจไทยปี 2559 อยู่ที่ 3.5%

“การลงทุนของภาครัฐน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยน่าจะทรงตัวอยู่ที่ 1.5% ไปจนถึงปลายปี และน่าจะปรับขึ้นหากราคาน้ำมันและเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น”

ด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ คาดว่าจีดีพีของสหรัฐฯ น่าจะอยู่ที่ระดับ 2.5% อัตราดอกเบี้ยก็ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ที่ต้องติดตามคือสหรัฐฯ จะขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปบ่อยแค่ไหน หากขึ้นเร็วอาจส่งผลกระทบต่อตลาดได้ ขณะที่ยุโรป ในปี 2559 ธนาคารกลางยังคงใช้มาตรการกระตุ้นต่อไป เงินยูโรที่อ่อนค่ายังเป็นปัจจัยบวกต่อยุโรป

ส่วนประเทศจีน เศรษฐกิจมีการชะลอตัวลงต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดความกังวล แต่มองว่ารัฐบาลจีนสามารถควบคุมได้ โดยใช้มาตรการต่างๆ ซึ่งในส่วนของเศรษฐกิจจีนนี้มีผลกระทบต่อประเทศในเอเชียโดยรวม

บลจ.วรรณ มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและต่างประเทศในปี 2559 ว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีเมื่อเทียบกับปี 2558 จากแรงผลักดันของมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะนโยบายการคลัง รวมทั้งภาคการท่องเที่ยว เป็นหลัก

ขณะที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสทรงตัวในช่วงครึ่งแรกของปีและปรับเพิ่มขึ้น 0.25% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 หลังอัตราเงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้นจากฐานต่ำและแนวโน้มราคาพลังงานที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ซึ่งการปรับ GDP ปี 2015 ลงส่วนใหญ่มาจากภาคการส่งออกที่หดตัวจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำ รวมถึงการบริโภคและลงทุนที่ชะลอตัว ถึงแม้ภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐจะเข้ามาพยุงเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี สถาบันต่างๆ มีมุมมองที่ดีขึ้นในปีหน้า โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวดีขึ้นเล็กน้อย และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทรงตัวได้จะช่วยผลักดันการส่งออกให้ฟื้นตัวได้ในปีหน้า นอกจากนั้น นโยบายภาครัฐจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ส่งผลให้การบริโภคและลงทุนภาคเอกชนกลับมาเติบโตในปี 2016

โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ขยายตัวตามนโยบายทางการคลังที่ช่วยผลักดันความเชื่อมั่น ซึ่งจะส่งผลต่อการบริโภคและการลงทุนให้ฟื้นตัว ที่สำคัญการส่งออกจะค่อยๆ ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก และฐานราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำในปี 2015 ที่สำคัญราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวตามอุปสงค์ และความแห้งแล้งจาก El Nino การท่องเที่ยวจะยังคงเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากอุปสงค์และเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ที่สำคัญปัญหาความแห้งแล้งจะผลักดันให้ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น และราคาน้ำมันคาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกันในปี 2015

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ผลการประชุม FOMC มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย FFR ในเดือน ธ.ค. 25 bps มาอยู่ในช่วง 0.25%-0.50% โดยมีมุมมองต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานดีกว่าการประมาณการครั้งก่อนในเดือน ก.ย. แต่ปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อลง มีการย้ำถึงความเร็วในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย FFR ต่อจากนี้จะเป็นไปอย่างช้าๆ และด้วยความระมัดระวัง ตามตัวเลขเศรษฐกิจ ซึ่งจะเน้นที่อัตราเงินเฟ้อมากขึ้น โดยนักวิเคราะห์คาดว่าการปรับขึ้นครั้งที่ 2 จะอยู่ในช่วงเดือน มี.ค. และผลกระทบจากการปรับขึ้นครั้งแรกจะมีไม่มากนักและเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้น

เศรษฐกิจยุโรป เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพและมี ECB คอยสนับสนุน คาดว่าเศรษฐกิจยูโรจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ต่อไปในช่วงปี 2016 ด้วยแรงสนับสนุนจาก ECB ที่ล่าสุดมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงมาอยู่ที่ -0.3% และยังสามารถมีการขยายระยะเวลาโครงการ QE จาก ก.ย. 2016 ไปเป็น มี.ค. 2017 อัตราเงินเฟ้อเริ่มทรงตัวได้และมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ภาคการบริการและการผลิตขยายตัวต่อเนื่องแต่ยังคงต้องจับตามอง เนื่องจากความเสี่ยงด้านก่อการร้ายยังคงมีอยู่

เศรษฐกิจญี่ปุ่น เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างชัดเจนจากภาคการบริโภค ส่งออก และลงทุนที่ชะลอตัว แต่ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วยสนับสนุนอัตราผลกำไรและภาคการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน แต่เมื่อเทียบกับสกุลเงินคู่ค้ากลับมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นกดดันภาคการส่งออก การขยายอายุพันธบัตรที่จะเข้าซื้อของ BOJ สะท้อนถึงปริมาณ JGB ที่เบาบาง ส่งผลให้นักลงทุนคาดว่าการปรับเพิ่ม QQE จะเป็นไปได้ยาก แต่นายอาเบะได้เตรียมนโยบายการคลังในปีหน้าที่เน้นช่วยเหลือคนชราและผู้มีรายได้น้อย ที่สำคัญได้มีการเตรียมปรับการขึ้นอัตราเงินเดือนขั้นต่ำปีละ 3.0% จาก 2.0% และคาดว่าจะทยอยมีมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมอีกมาก

เศรษฐกิจจีน เศรษฐกิจจีนชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก กดดันภาคการผลิตและส่งออก แต่ภาคการบริการและการใช้จ่ายในประเทศยังทรงตัวได้ดี เศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโดยลดสัดส่วนการส่งออกและเพิ่มสัดส่วนการบริโภคในประเทศมากขึ้น ค่าเงินหยวนที่แข็งค่าตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีส่วนกดดันภาคการส่งออก ดังนั้น การดูแลค่าเงินหยวนตามตะกร้าสกุลเงินคู่ค้าจะช่วยผ่อนคลายแรงกดดันด้านการส่งออกและคาดว่าค่าเงินหยวนจะมีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างช้าๆ และภาครัฐยังมีความสามารถในการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอีกมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น