บัวหลวง Money Tips
โดย พิชชาภา ศุภวัฒนกุล
กองทุนบัวหลวง
ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ช่วงปลายปีจะเป็นซีซันแห่งการจัดงานมงคลสมรสและฮันนีมูนสำหรับลูกค้าชาวต่างชาติโดยเฉพาะ
ธุรกิจที่จับตลาดท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม (niche tourism sector) แขนงนี้ แม้จะดูเป็นงานเล็กๆ น้อยๆ ในสายตาคนทั่วไป แต่กลับสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนได้สะพัด จนสามารถเกื้อหนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศโดยรวม เนื่องด้วยมูลค่าตลาดนั้นมหาศาลเสียจน “คนนอกวงการ” คาดไม่ถึง
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดทำรายงานรวม 170 หน้า ชี้ให้เห็นมูลค่าธุรกิจจัดงานสมรสและท่องเที่ยวฮันนีมูนของบ้านเราว่า... เฉพาะรายรับที่ได้จากนักท่องเที่ยวอินเดียเพียงชาติเดียวก็สูงถึง 4.58 หมื่นล้านบาทแล้ว หรือคิดเป็น 4% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด (1.15 ล้านล้านบาท) ในปี 2014
รายงานฉบับนี้จัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษา Synovate Business Consulting โดยศึกษาธุรกิจแขนงนี้ในเชิงลึก พร้อมกับแยกแยะให้เห็นตลาดนักท่องเที่ยว 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
1. นักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และยุโรป ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเงินที่ใช้จ่ายเพื่อจัดงานแต่งงาน รวมทั้งท่องเที่ยวฮันนีมูนในไทยอีกระยะหนึ่ง เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ควรให้ความสำคัญสูงสุด
2. นักท่องเที่ยวอินเดีย ที่เดินทางเข้าไทยเพื่อจัดงานหรือร่วมงานวิวาห์โดยเฉพาะ คนกลุ่มนี้ก้าวสู่อันดับสองแบบเงียบๆ ด้วยเม็ดเงินจัดงานที่สูงมาก
3. นักท่องเที่ยวจากประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน หรือสิงคโปร์ ส่วนใหญ่นิยมจัดงานพร้อมฮันนีมูนแบบประหยัดเป็นหลัก
ในตลาดสามกลุ่มหลักนี้ กลุ่มเป้าหมายใหญ่และเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจจัดสมรสและฮันนีมูนของไทยคือคนอินเดีย โดยสถิติในปี 2013 ระบุว่ามีนักท่องเที่ยวอินเดียมาไทยรวม 1,049,856 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.61% ต่อมาในปี 2014 ประเมินว่าอยู่ราว 1,070,000 คน และมีอย่างน้อย 8,000 คน เดินทางมาเพื่อร่วมฉลองสมรสที่จัดขึ้นในปีนั้นประมาณ 40 ครั้ง โดยช่วง “พีก” ที่เหมาะสำหรับจัดงานมงคลของผู้นับถือฮินดูจะอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายนต่อเนื่องข้ามปีไปจนสิ้นเดือนมีนาคม
ททท.ประเมินค่าใช้จ่ายในงานวิวาห์ตามประเพณีอินเดียเฉลี่ยต่อครั้งว่าต้องใช้เงินถึง 10 ล้านบาท และยังต้องเชิญแขกราว 200-500 คน ใช้เวลาจัดงาน 3-5 คืน และเปิดห้องพักประมาณ 500 ห้องต่อหนึ่งงาน!
แรงจูงใจสำคัญที่กระตุ้นให้ธุรกิจจัดฉลองสมรสในไทยเฟื่องฟูในหมู่เศรษฐีอินเดียก็คือความสะดวกสบาย และต้นทุนค่าใช้จ่าย
สมาคมธุรกิจไทย-อินเดียยืนยันว่าการจัดงานแต่งในไทยช่วยประหยัดเงินได้มากกว่าจัดในอินเดีย 2-3 เท่าทีเดียว นับว่าเป็นเหตุที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก เพราะการจัดงานมงคลตามประเพณีนอกประเทศน่าจะต้องใช้จ่ายจิปาถะมากมาย ไม่ว่าค่าตั๋วเครื่องบิน ที่พักโรงแรม อาหาร ขนส่ง หรือค่าเช่าเรือยอชต์ อันเป็นภาระที่เจ้าภาพต้องควักจ่ายเพื่อรับรองแขกเหรื่อที่มาจากอินเดีย โดยยังไม่รวมค่าตัวของนักบวชผู้ประกอบพิธีกรรม และเชฟชั้นเยี่ยมที่บินตรงจากประเทศแม่ มิหนำซ้ำบางงานอาจยิ่งใหญ่ถึงขั้นปิดหรือเหมาทั้งรีสอร์ต ซึ่งก็ต้องบวกเพิ่มต้นทุนที่ต้องจ่ายให้ ผู้ประกอบการ/เจ้าของสถานที่ เป็นกรณีพิเศษอีกด้วย
ทำไมค่าใช้จ่ายรวมทั้งงานที่มหาศาลมิใช่น้อย ถึงได้ถูกกว่าจัดงานในประเทศตัวเอง!เว็บไซต์รับจัดงานแต่งงานของไทยรายหนึ่งช่วยอธิบายว่า… “ราคาโรงแรมหรือที่พักในไทยในระดับเดียวกันกับที่อื่นๆ จะถูกกว่า 30-60% แต่คุณภาพบริการไม่แตกต่างจากเบอร์หนึ่งของโลกเลย ส่วนอาหารกับเครื่องดื่มก็ถูกกว่าโดยรวมถึง 30-60% เช่นกัน จะมีแต่ค่าเครื่องบินจากอินเดียตรงสู่กรุงเทพฯ เท่านั้นที่มีราคาแพงกว่าค่าตั๋วภายในประเทศของเขาเล็กน้อย แต่ก็มีบางช่วงที่แทบจะราคาเดียวกัน”
ททท.อธิบายว่า…. “การเดินทางมาไทยเป็นเสน่ห์ดึงดูดใจครอบครัวของบ่าวสาวที่ปรารถนาจัดพิธีสมรสยังต่างแดนในประเทศที่ได้เปรียบถึงสองต่อ คือนอกจากจะมีบรรยากาศงดงามน่าตื่นตาสำหรับชาวต่างชาติแล้ว ยังเป็นแหล่งจัดงานในราคาสมเหตุผลอีกด้วย ซึ่งพวกเขาสามารถใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมง บินตรงจากเดลีหรือมุมไบมาถึงไทย ซึ่งเป็นประเทศปลายทางยอดนิยมอันดับต้นๆ สำหรับจัดพิธีแต่งงาน และการันตีด้วยรางวัล Best Country และ Best Wedding Destination Award สามปีติดกันจาก Travel+Leisure นิตยสารท่องเที่ยวชั้นนำระดับโลก”
แน่ล่ะ... เมื่อเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ และเป็นกลุ่มกระเป๋าหนัก ธุรกิจไทยจึงต้องทำให้บริการของตนจูงใจลูกค้าเป้าหมาย โรงแรมชั้นนำในไทยหลายแห่งได้ปรับปรุงหน้าตาเว็บเพจของตนให้เตะตาลูกค้าอินเดียอย่างจริงจัง รวมถึงบริษัทรับจัดงานแต่งงานอีกมากมาย และบางแห่งก็เป็นคนอินเดียที่เข้ามาหาลู่ทางในไทยนั่นเอง