“สรรพากร” แจงสิทธิลดหย่อนภาษี ช้อปช่วยชาติ-ท่องเที่ยว เพื่อ ปชช.มีการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการในประเทศเพิ่มขึ้น ในเดือน ธ.ค.นี้ แนะการใช้สิทธิให้นำใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป เพื่อให้เป็นหลักฐานในการยื่นใช้สิทธิ
นายสมชาย แสงรัตนมณีเดช รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลออกมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวปลายปี 2559 ระหว่างวันที่ 1-31 ธันวาคม 2559 และมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (ช้อปช่วยชาติ) ให้ประชาชนมีการใช้จ่ายซื้อสินค้า และบริการในประเทศเพิ่มขึ้นช่วงปลายปี 2559 ระหว่างวันที่ 14-31 ธันวาคม 2559 นั้น กรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิสำหรับมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวปลายปี 2559 แล้ว โดยสิ่งสำคัญที่ผู้เสียภาษีต้องนำมาใช้เป็นหลักฐาน คือ ใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป
สำหรับค่าบริการนำเที่ยวภายในประเทศ หรือค่าที่พักโรงแรมภายในประเทศที่ผู้เสียภาษีต้องเรียกขอจากผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ หรือผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม เอกสารดังกล่าวต้องระบุชื่อ-นามสกุล ของผู้ที่จะใช้สิทธิ จำนวนเงิน วัน เดือน ปี ที่จ่ายเงิน การใช้สิทธิลดหย่อนครั้งนี้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 322 (พ.ศ. 2559) เมื่อรวมกับการใช้สิทธิมาตรการภาษีสนับสนุนการท่องเที่ยวตลอดปี 2559 ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 316 (พ.ศ. 2559) แล้ว ต้องไม่เกิน 30,000 บาท
ส่วนค่าใช้จ่ายที่มีสิทธินำมาลดหย่อน ได้แก่ ค่าที่พักโรงแรม ซึ่งมีอาหารเช้ารวมในรายการที่พัก ค่าซื้อแพกเกจทัวร์ท่องเที่ยวในประเทศ โดยมีค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าเช่าเรือ ค่าเช่ารถ ค่าอาหาร ค่าเข้าชม การแสดง ค่าดำน้ำ รวมอยู่ในแพกเกจทัวร์ ส่วนค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวที่ไม่สามารถนำมาลดหย่อน ได้แก่ ค่าซื้อเฉพาะตั๋วเครื่องบินจากผู้ประกอบการนำเที่ยว ค่าซื้อแพกเกจทัวร์เดือนธันวาคม 2559 เพื่อใช้ท่องเที่ยวปี 2560 การจ่ายค่าที่พักเดือนธันวาคม 2559 เพื่อใช้เข้าพักปี 2560 ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าเช่ารถยนต์ ค่าเช่าเรือ ค่าชมการแสดง ค่าอาหารในโรงแรม และค่าสินค้า เป็นต้น
นายสมชาย กล่าวว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี 2559 (ช้อปช่วยชาติ) กรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิสำหรับช้อปช่วยชาติ โดยย้ำว่า สิ่งสำคัญที่ผู้เสียภาษีต้องนำมาใช้เป็นหลักฐานลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ที่เกิดขึ้นจากการซื้อสินค้าหรือใช้บริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยที่ผู้เสียภาษีต้องเรียกขอจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่นำมาลดหย่อนไม่ได้ เช่น ค่าซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ บุหรี่ น้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ ค่าแพกเกจทัวร์ท่องเที่ยว ค่าที่พักในโรงแรม ค่ารักษาพยาบาล ค่าซื้อทองคำแท่ง และค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ของเดือนก่อนที่มาชำระในช่วงนี้ ค่าซื้อแพกเกจทัวร์ไปต่างประเทศ ค่าซื้อประกันชีวิต ประกันภัยรถยนต์ ค่าซื้อเนื้อหมู ไก่ ปลา ค่าซื้อหนังสือ นิตยสาร ตำราเรียน ในกรณีที่ผู้ซื้อสินค้า หรือชำระค่าบริการหลายครั้ง ระหว่างวันที่ 14-31 ธันวาคม 2559 สามารถนำมูลค่าในใบกำกับภาษีเหล่านั้น มารวมกันได้ แต่ใช้สิทธิได้ไม่เกิน 15,000 บาท และหากใบกำกับภาษีมีทั้งสินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในใบเดียวกัน สามารถนำมาหักลดหย่อนได้เฉพาะค่าสินค้า และค่าบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม