ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด กนง.ยังคง ดบ.ที่ระดับ 1.50% ยาวต่อเนื่อง แม้ทิศทาง ดบ.สหรัฐฯ จะเป็นขาขึ้น ขณะที่ไทยน่าจะยังคงส่งสัญญาณรักษา Policy Space และดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนปรน เพื่อหนุนการฟื้นตัวของ ศก.ควบคู่ไปกับการปรับใช้เครื่องมือเชิงนโยบายอื่นๆ ขณะที่นโยบายด้านการคลังยังมีประสิทธิภาพ
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่องในการประชุม กนง.รอบสุดท้ายของปี 2559 ในวันที่ 21 ธ.ค.2559 และน่าจะส่งสัญญาณยืนดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เพื่อรอประเมินสถานการณ์หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นต่อเนื่องในปีหน้า และเพื่อช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
แม้การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในการประชุมเดือน ธ.ค.59 ที่ผ่านมา จะเป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาด อย่างไรก็ดี สัญญาณที่สะท้อนว่า เฟดอาจเร่งจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยเล็กน้อยในปี 60 ที่กำลังจะมาถึงทำให้ประเด็นที่ต้องติดตามของไทยจะอยู่ที่กระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่อาจจะมีความอ่อนไหว และผันผวนมากขึ้น เนื่องจากตลาดการเงินทั่วโลกอาจยังคงต้องการเวลาในการซึมซับ และประเมินช่วงเวลาที่ชัดเจนของการขยับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กนง.น่าจะยังมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 1.50% ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว เพื่อรอประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของเฟดต่อเศรษฐกิจไทยอีกระยะ นอกจากนี้ ยังมองว่า กนง.น่าจะรอติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ หลังจากที่ได้รับแรงกระตุ้นเพิ่มเติมจากมาตรการของภาครัฐ
ทั้งนี้ ประเทศไทยนับว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ยังมีพื้นที่/เครื่องมือผ่อนคลายทางการคลังที่สามารถนำปรับใช้ได้อย่างทันท่วงที (มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในประเทศ และช้อปช่วยชาติ มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการประชารัฐสร้างไทยให้กลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม) เพื่อประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
โดยหนี้สาธารณะของไทยที่ยังคงอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก (ประมาณ 42-43% ของจีดีพี ต่ำว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ 60% ของจีดีพี) ประกอบกับตามกฎหมายแล้ว รัฐบาลยังมีพื้นที่ในการกู้เงินเพิ่มเติม เพื่อไฟแนนซ์การใช้จ่ายในส่วนนี้ โดยไม่ละเมิดกรอบวินัยทางการคลังอีกประมาณ 2 แสนล้านบาท
สำหรับทิศทางนโยบายการเงินของไทยในปี 60 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กนง.น่าจะยังคงส่งสัญญาณรักษา Policy Space และดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนปรนต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า ยังคงมีความเปราะบาง ขณะที่เงินเฟ้อที่อาจจะขยับขึ้นในปีหน้าจะยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. ซึ่งยังไม่น่าจะสร้างแรงกดดันต่อ กนง.มากนัก
ทั้งนี้ แม้สัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นจากเฟด จะสะท้อนว่า สภาวะแวดล้อมของตลาดการเงินโลกในช่วงหลังจากนี้คงจะทยอยปรับเปลี่ยนเข้าสู่บริบทใหม่ที่ต้นทุนทางการเงินของหลายๆ ประเทศจะเริ่มทยอยขยับขึ้น แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงคาดว่า มีความเป็นไปได้ที่ กนง.จะยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ตลอดทั้งปี 60 โดยมองว่า กนง.น่าจะยังคงดูแลให้นโยบายการเงินของไทยอยู่ในระดับที่ผ่อนปรนต่อเนื่อง เพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ควบคู่ไปกับการปรับใช้เครื่องมือเชิงนโยบายอื่นๆ มาช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินบาท กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ตลอดจนรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ