xs
xsm
sm
md
lg

สร้างวินัยปรับพอร์ตด้วย Smart Beta

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr.win@one-asset.com

การจัดพอร์ตการลงทุนโดยการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ให้มีความเหมาะสมกับภาวะการลงทุน ส่วนหนึ่งเราเรียกว่า Strategic Asset Allocation ซึ่งจะจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะกับปัจจัยต่างๆ ที่ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงบ่อย เช่น แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย เศรษฐกิจ โดยเป็นการจัดพอร์ตการลงทุนในระยะยาวแบบ Buy and Hold อีกส่วนคือการจัดพอร์ตในลักษณะ Trading เพื่อสร้างผลตอบแทนจากสินทรัพย์ตามการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยตลาดในช่วงสั้นๆ ซึ่งเรียกว่า Tactical Asset Allocation

สำหรับคอลัมน์ฉบับนี้ลองมาดูกันว่า Strategic Asset Allocation ทำไมถึงควรมีไว้ในพอร์ตการลงทุนบ้าง

สำหรับการจัดพอร์ตในส่วนของ Strategic Asset Allocation มีอยู่หนึ่งกลยุทธ์ที่จะสามารถลดความเสี่ยงพร้อมๆ กับการสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว คือกลยุทธ์ที่เรียกว่า Smart Beta กลยุทธ์ดังกล่าวมีประโยชน์อย่างไร เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย การลงทุนแบบ Smart Beta คือการกระจายการลงทุน (Diversifies) ในหลักทรัพย์แต่ละตัว โดยให้น้ำหนักการลงทุนในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน และค่อนข้างมีรูปแบบการซื้อขายที่สม่ำเสมอจากการกำหนดเวลาในการปรับพอร์ต (Timing Rebalance Port) ให้ชัดเจน

ยกตัวอย่าง หากพอร์ตการลงทุน A มีหุ้นจำนวน 5 ตัว กลยุทธ์การลงทุนแบบ Smart Beta จะให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้น 5 ตัวในสัดส่วน 20% เท่ากัน โดยกำหนดเวลาในการปรับพอร์ตทุกๆ 6 เดือน เมื่อถึงช่วงกำหนดที่ต้องปรับพอร์ต สัดส่วนการลงทุนของหุ้นแต่ละตัวจะเปลี่ยนแปลงตามราคาหุ้น ซึ่งผู้จัดการกองทุนจะซื้อหุ้นที่ราคาปรับตัวลงต่ำกว่า 20% ของพอร์ต และขายหุ้นที่ราคาปรับตัวขึ้นจนเกินสัดส่วน 20% ของพอร์ตบางส่วนออก เพื่อให้หุ้นทั้ง 5 ตัวมีสัดส่วนการลงทุนเท่าเดิมที่ 20% ลักษณะนี้ทำให้เกิดการเฉลี่ยต้นทุนในหุ้นบางตัวที่มีราคาถูกลง และขายทำกำไรในหุ้นที่มีราคาแพงขึ้น

นอกจากนี้ การซื้อถูกขายแพงในวิธีดังกล่าว กลยุทธ์นี้สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนได้ เพราะความถี่ในการซื้อและขายจะลดลงจากวินัยการปรับพอร์ต ในขณะที่การลงทุนแบบปกติทั่วไปจะต้องเข้าทำการซื้อขายบ่อยครั้งเพื่อสร้างผลตอบแทนตามตลาด ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่ตลาดหุ้นมีความผันผวน

กลยุทธ์การลงทุนแบบ Smart Beta ยังสามารถนำมาใช้เพื่อการบริหารการลงทุนในตราสารหนี้ด้วยเช่นกัน โดยธรรมชาติของการลงทุนในตลาดตราสารหนี้จะมีความอ่อนไหวต่อทิศทางของอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากตราสารหนี้ที่มีอายุยาวจะได้รับผลกระทบต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเราสามารถให้น้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ในแง่ของผลตอบแทนการลงทุนในตราสารตามอายุคงเหลือ (Duration Trading) และ Spread จาก Credit พร้อมให้น้ำหนักการลงทุนที่เท่ากัน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น (Risk adjusted return) จากปัจจัยของอัตราดอกเบี้ยที่ทำให้ราคาของตราสารหนี้ผันผวน

การบริหารพอร์ตการลงทุนในแบบ Smart Beta จะเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ถือลงทุนในระยะยาว ซึ่งผู้ลงทุนรายย่อยทั่วไปสามารถนำหลักการของ Smart Beta มาใช้เป็นแนวทางในการบริหารพอร์ตได้

โดยผมมองว่าจุดเด่นจาก Timing Rebalance จะสามารถช่วยให้ผู้ลงทุนลดต้นทุนจากค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย ประกอบกับลดความกังวลเกี่ยวกับภาวะตลาดที่มีความผันผวน เพราะความกังวลที่มากเกินไปทำให้เกิดแรงขายและเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความผันผวนให้กับทุกๆ ตลาด

อย่างไรก็ดี เราสามารถเลือกเครื่องมือการลงทุนสำหรับการจัดพอร์ตในแบบ Strategic Asset Allocation ผ่านกองทุนรวมประเภท Exchange Trade Fund (ETF) เนื่องจากกองทุนประเภท ETF สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารพอร์ตการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ

ทั้งในแบบ Trading และ Buy and Hold รวมถึงการลงทุนที่ใช้กลยุทธ์แบบ Smart Beta ด้วย สัปดาห์หน้าเราจะมาคุยกันครับว่า ความน่าสนใจของกองทุน ETF มีอะไรบ้าง และในต่างประเทศกองทุน ETF ได้รับความนิยมมากน้อยแค่ไหน

•นักลงทุนสามารถสอบถามเพิ่มเติมและขอรับร่างหนังสือชี้ชวนได้ที่ฝ่ายบริการลูกค้าและสนับสนุนธุรกิจที่หมายเลข 0-2659-8888 ต่อ 1 ครับ

•“ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน”


กำลังโหลดความคิดเห็น