คอลัมน์ ONE'View
โดย ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr.win@one-asset.com
สวัสดีครับ ในช่วงปีที่ผ่านมาถึงปีนี้กองทุนประเภท Trigger Fund ได้รับความนิยมและกระแสตอบรับจากนักลงทุนค่อนข้างมาก ซึ่งกองทุนประเภท Trigger Fund และกองทุนเปิดทั่วไปประเภท Open-Fund ต่างก็มีความน่าสนใจ ข้อดีข้อเสียของการลงทุนในกองทุนและการใช้ประโยชน์ของกองทุนทั้ง 2 ประเภทนี้แตกต่างกันไป
กองทุน Trigger Fund เป็นกองทุนฯ ที่ตั้งเป้าหมายผลตอบแทนการลงทุนที่ชัดเจนตั้งแต่ตอนเริ่มจัดตั้ง และหากกองทุนฯ สามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามเป้าหมาย กองทุนฯ ก็จะทำการปิดกองทุนทันทีพร้อมคืนเงินต้นและผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนตามที่ได้แจ้งไว้ ซึ่งในกรณีที่กองทุนไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ลงทุนต้องรับความเสี่ยงตามมูลค่าหน่วยลงทุน ณ วันที่ครบกำหนดอายุหรืออาจสามารถเลือกถือครองต่อหรือขายออกได้ หากกองทุนนั้นเปิดให้ซื้อขายได้ตามปกติเหมือนกองทุนทั่วไป ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของกองทุนนั้นๆ
กองทุนทั้ง 2 ประเภททั้ง Trigger Fund และ Open-Fund มีประโยชน์ในจังหวะเวลาและประเภทนักลงทุนที่แตกต่างกัน สำหรับกองทุน Trigger Fund การสร้างพอร์ตการลงทุนด้วยการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการผลตอบแทนที่เป็นไปได้มากที่สุดในช่วงเวลาที่กำหนด ทำให้ลักษณะการบริหารพอร์ตการลงทุนของผู้จัดการกองทุนจะพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องด้านสถานการณ์การลงทุนและพอร์ตการลงทุนที่คาดว่าน่าจะมีโอกาสการปรับตัวของราคาหลักทรัพย์ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนและคาดการณ์ทิศทางตลาดได้ค่อนข้างยาก
โดยการจัดพอร์ตการลงทุนที่สอดคล้องไปกับจังหวะเวลาการลงทุนในช่วงสั้นๆ โดยเน้นจังหวะการลงทุน (Market Timing) และคัดเลือกหลักทรัพย์ (Securities Selection) ตามที่ได้วางแผนไว้ รวมถึงการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อให้พอร์ตการลงทุนนั้นได้ผลตอบแทนที่ตั้งไว้แล้วเลิกกองทุน ทำให้การลงทุนในลักษณะนี้จึงเหมาะสมกับนักลงทุนที่ไม่มีเวลาติดตามสถานการณ์การลงทุนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากนักลงทุนสามารถคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนที่มีการกำหนดเป้าหมายผลตอบแทนและได้รับเงินคืนจากการปิดกองทุน โดยไม่ต้องกังวลกับผลตอบแทนระยะยาวเกินไปนัก
ขณะที่กองทุน Open-Fund การบริหารจัดการจะเน้นการสร้างผลตอบแทนในระยะยาวพร้อมๆ กับการบริหารความเสี่ยงจากการกระจายการลงทุน ซึ่งเหมาะกับช่วงที่หุ้นมีแนวโน้มเป็นขาขึ้นและนักลงทุนที่มีความใกล้ชิดกับตลาดซึ่งสามารถติดตามการขึ้นลงของตลาดและตัดสินใจลงทุนในหน่วยลงทุนด้วยตนเองเพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่ตนเองได้ตั้งเป้าหมายไว้และขายทำกำไรในช่วงที่ได้ผลตอบแทน ซึ่งจำเป็นที่นักลงทุนจะต้องทราบลักษณะหลักทรัพย์ที่กองทุนลงทุน รวมถึงแนวการบริหารจัดการกองทุนนั้นด้วย
สำหรับ บลจ.วรรณเองก็มีการบริหารจัดการกองทุนประเภท Trigger Fund เช่นกัน โดยเน้นกลยุทธ์การลงทุนในลักษณะเชิงรุก (Active Management) อย่างแท้จริง โดยปรับพอร์ตการลงทุนสอดคล้องไปกับสภาวะการลงทุนในแต่ละช่วงเวลานั้นๆ และมีการซื้อขายตราสารที่ลงทุนระหว่างทางเพื่อบริหารกองทุนฯ ให้ได้ผลตอบแทนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ (Tactical Trading) โดยเน้นการเลือกหุ้นและหรือตราสารที่มีโอกาสการเติบโตของราคาในอนาคต รวมทั้งมีการบริหารจัดการได้อย่างยืดหยุ่นเพียงพอที่จะปรับเปลี่ยนการลงทุนได้ตามสถานการณ์การลงทุนที่เหมาะสม
ถึงแม้ว่าจะเป็นการบริหารกองทุน Trigger Fund แต่กลยุทธ์การบริหารกองทุนก็สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานเป็นส่วนมากจากการสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Alpha) ให้แก่กองทุน ตัวอย่างเช่น กองทุนเปิด ONE-MOAT7 และ ONE-ACTIVE6 ซึ่งเป็นกองทุนฯ ที่เพิ่งปิดล่าสุดวันที่ 16 เม.ย. 58 ก็ได้ให้ผลตอบแทนของกองทุนตั้งแต่จัดตั้งอยู่ที่ 7.30% และ 6.00% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่ให้ผลตอบแทนที่ 1.03% และ 3.69% ในช่วงเวลาเดียวกันตามลำดับ และในช่วงปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน บลจ.วรรณมีการเสนอขายกองทุนประเภทนี้แล้วกว่า 16 กองทุน ซึ่งประสบความสำเร็จไปเรียบร้อยแล้ว 13 กองทุน ขณะที่อีก 3 กองทุนยังอยู่ในช่วงการบริหารจัดการ ซึ่งผมมองว่าสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้และต้องการผลตอบแทนตามเป้าหมายแต่ไม่มีเวลาติดตามซื้อขายด้วยตนเอง การลงทุนในกองทุนประเภท Trigger Fund ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่แนะนำครับ
•หากนักลงทุนสนใจสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายบริการลูกค้าและสนับสนุนธุรกิจที่หมายเลข 0-2659-8888 ต่อ 1
•การวัดผลการดำเนินงานจัดทำตามเกณฑ์มาตรฐานของทางสมาคมบริษัทจัดการลงทุน และผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
•ทั้งนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน