xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดหุ้นโลกที่ถูกกดดันจากการเลื่อนขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เป็นโอกาสในการเข้าลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ Fund Manager Talk
โดย บลจ.ทิสโก้

ในวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ตัดสินใจที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0-0.25% ต่อไปอีก ถึงแม้การตัดสินใจของ Fed ในครั้งนี้จะอยู่ในความคาดหวังของตลาดแล้ว แต่ก็จะเห็นได้ว่าผลตอบรับของตลาดต่อการตัดสินใจของ Fed กลับออกมาในทางลบ โดยตลาดหุ้นสำคัญๆ ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น S&P 500 index ที่ปรับลดลง 1.62%, FTSE index ที่ปรับลด 1.34% และตลาดหุ้นเยอรมนีที่ปรับลดลง 3.06% ในวันที่ 18 กันยายน ล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงความกังวลถึงสาเหตุที่ Fed เลื่อนการปรับขึ้นดอกเบี้ย

ทั้งนี้ Fed ได้ให้ความเห็นถึงการเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยว่า Fed ยังคงกังวลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ขณะเดียวกัน deflation risk ที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันที่ปรับลดลง และความผันผวนอย่างหนักที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นจีน ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ Fed จะต้องนำมาประเมินว่าเมื่อไหร่จะเป็นเวลาที่เหมาะสมต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยและการปรับขึ้นนั้นจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์จาก comment ของ Fed ที่ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการจ้างงาน ที่อัตราการว่างงานมีแนวโน้มลดลง รวมถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ถึงแม้ Fed จะเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยในรอบที่ผ่านมา ผู้จัดการกองทุนเชื่อว่ายังมีโอกาสที่ Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ภายในปีนี้ (FOMC meeting มีกำหนดจะประชุมในวันที่ 27-28 ตุลาคม และ 15-16 ธันวาคม)

ในแง่ของมุมมองการลงทุน ผู้จัดการกองทุนเชื่อว่า ยิ่งสหรัฐฯ เลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยออกไปทั้งที่ข้อมูลทางเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ บอกว่าพร้อมที่จะขึ้นดอกเบี้ยได้แล้ว นอกจากจะสร้างความคลุมเครือ ยังจะทำให้เกิดการส่งสัญญาณในเชิงลบ เพราะสิ่งที่ตลาดกังวลจะไม่ใช่ timing ว่าดอกเบี้ยขึ้นเมื่อไหร่ แต่จะเป็นความกังวลต่อการชะลอตัวของอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ความกังวลต่อ deflation risk ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะในตลาดหุ้น

แต่กระนั้น ผู้จัดการกองทุนเชื่อว่าปัจจัยกดดันนี้จะเป็นปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น เพราะจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยุโรป ยังคงมีแนวโน้มที่ขยายตัวได้ดีตามคาด และถึงแม้การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนอาจจะมีความกังวลอยู่บ้าง แต่ด้วยมาตรการต่างๆ ที่ออกมาแล้ว และจะทยอยออกมาในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดดอกเบี้ย การปรับลด RRR และการขยายการลงทุนของภาครัฐ จะช่วยให้การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนเติบโตไปตามคาดหมาย ซึ่งจะทำให้ในท้ายที่สุด ความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนจะมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงรุนแรง (hard landing fear) จะคลี่คลายลง ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดที่ Fed จะเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยอย่างไม่มีกำหนด

ดังนั้น เมื่อ Fed มีความมั่นใจในเศรษฐกิจและเริ่มที่จะขึ้นดอกเบี้ย ผู้จัดการกองทุนเชื่อว่าความกังวลที่ตลาดกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้จะคลี่คลายลง และเมื่อเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงของการขยายตัว การลงทุนในตลาดหุ้นย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ หรือสินค้าโภคภัณฑ์ แต่ทั้งนี้ใช่ว่าทุกตลาดหุ้นจะน่าลงทุนเหมือนๆ กันเพราะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ สภาวะแวดล้อมของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศหรือแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างจากในอดีตพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) และตลาดหุ้นในเอเชีย

ในอดีต ตลาดหุ้นใน EM และเอเชียให้ผลตอบแทนที่ดีมากในช่วงเริ่มของการที่สหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ย จากภาวะเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยและสอดคล้องต่อวัฏจักรทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ดี อัตราเงินเฟ้อที่กำลังไต่ขึ้น การบริโภคในประเทศและการส่งออกที่ขยายตัวดี แต่ในปัจจุบันหลายๆ ประเทศต้องเผชิญกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับต่ำ ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่อ่อนแอ อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ทิศทางการปรับดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะสวนทางหรือปรับขึ้นช้ากว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งจะทำให้ค่าเงินของประเทศในแทบ EM และเอเชียมีแนวโน้มจะอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยลบที่จะส่งผลต่อ fund flow ที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศแถบนี้

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการกองทุนเชื่อว่า ในช่วง 3 เดือนต่อจากนี้หากมีการปรับลดลงของตลาดหุ้นยุโรป และญี่ปุ่น น่าจะเป็นโอกาสที่เปิดให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนได้ ทั้งนี้ หาก Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ย เชื่อว่าการอ่อนค่าของค่าเงินยูโรและค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจะส่งผลบวกต่อภาคการส่งออก และกำไรของบริษัทจดทะเบียนของทั้งสองภูมิภาค ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำจะช่วยสนับสนุนการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ ด้วยมาตรการทางการเงินที่ญี่ปุ่นและยุโรปที่ยังทำ QE อย่างต่อเนื่อง จะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการลงทุนในตลาดหุ้น

โดยสรุป ในเชิงกลยุทธ์ ผู้จัดการกองทุนยังคงแนะนำให้ Overweight ในหุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดยุโรป เยอรมนี และญี่ปุ่น Underweight สินค้าโภคภัณฑ์ และตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศอาเซียน และตลาดละตินอเมริกา


กำลังโหลดความคิดเห็น