บลจ.ไทยพาณิชย์เปิดตัวกองทุน “บิลเลียนแนร์” จัดพอร์ตลงทุนหุ้นสหรัฐฯ เองโดยตรงตามแบบพอร์ตมหาเศรษฐีชื่อดัง เช่น วอร์เรน เอ็ดเวิร์ด บัฟเฟตต์, จอร์จ โซรอส เป็นต้น ชูผลตอบแทนสูงสำหรับการลงทุนในระยะยาว เปิดขาย 16-23 กรกฎาคม 2558
นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย รองกรรมการผู้อำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน กลุ่มจัดการลงทุนตราสารทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า โดยภาพรวมยังมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ และปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่แข็งแกร่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ S&P 500 มูลค่าพื้นฐานปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับสูงกว่าตลาดหุ้นของประเทศพัฒนาแล้ว บริษัทฯ จึงมีมุมมองเป็นกลาง (Neutral) ต่อตลาดหุ้น S&P 500 ในช่วงเวลานี้ และได้เลือกนำเสนอกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ บิลเลียนแนร์ เป็นทางเลือกเสริมสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ด้วยลักษณะการคัดเลือกหุ้นของดัชนี iBillionaire ที่เน้นหุ้นที่มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว มีอัตราการขยายตัวของผลกำไร (EPS growth) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวม อีกทั้งยังมีราคาถูกกว่าหุ้นในดัชนี S&P 500 ในขณะที่ EPS growth ของดัชนี iBillionaire อยู่ที่ 26.0% สูงกว่าเกือบสองเท่าของดัชนี S&P 500 ที่ระดับ 15.6%% (ข้อมูลจาก Bloomberg ณ 2 ก.ค. 2558)
ทั้งนี้ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ บิลเลียนแนร์ (SCB Billionaire Fund) มูลค่าโครงการประมาณ 3,000 ล้านบาท ลงทุนในพอร์ตหลักทรัพย์ในแบบเดียวกับพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนมหาเศรษฐีในสหรัฐอเมริกา เช่น วอร์เรน เอ็ดเวิร์ด บัฟเฟตต์, จอร์จ โซรอส, คาร์ล ไอคาห์น, เรย์ ดาลิโอ, จอห์น พอลสัน และจอร์จ เปาโล เลแมนน์ เป็นต้น โดยกองทุนนี้จะเริ่มเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 16-23 กรกฎาคม 2558 ด้วยเงินลงทุนครั้งแรกขั้นต่ำเพียง 5,000 บาท
โดยกองทุนจะคัดสรรหุ้นของดัชนี iBillionaire นั้นจะคัดเลือกนักลงทุนมหาเศรษฐี 10 รายที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ ได้แก่ มีพอร์ตการลงทุนที่เปิดเผยต่อสาธารณะไม่ต่ำกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เน้นลงทุนระยะยาว (Buy and Hold) แล้วจึงทำการคัดเลือกหุ้น 30 อันดับแรกที่นักลงทุนมหาเศรษฐีดังกล่าวถือครองในพอร์ตการลงทุนเหมือนกันโดยกระจายการลงทุนในหุ้นทั้ง 30 ตัวเฉลี่ยเท่าๆ กันคือตัวละ 3.33% ของดัชนี โดยกองทุนนี้จะเข้าไปลงทุนในหุ้นเองโดยตรง เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้แก่นักลงทุนที่สนใจลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยมีโอกาสได้รับผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากการลงทุนในพอร์ตหุ้นขนาดใหญ่ที่ยังมีมูลค่าพื้นฐานต่ำกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวม กองทุนดังกล่าวจะทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลเงินบาทไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าทรัพย์สินที่ลงทุนในต่างประเทศ และมีนโยบายจ่ายเงินปันผลปีละไม่เกิน 2 ครั้ง
“กองทุนนี้น่าจะให้ผลตอบแทนในระดับ 10-15% คาดว่ากำไรของบริษัทที่ลงทุนน่าจะอยู่ 1 เท่าของตลาด โดยกลุ่มที่ให้น้ำหนักการลงทุนได้แก่ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย สุขภาพ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม วัสดุก่อสร้าง พลังงาน โดยในทุกๆ 3 เดือนจะมีการประเมินพอร์ตการลงทุน”
มั่นใจทริกเกอร์ฟันด์หุ้นไทยยิลด์เข้าเป้า
นายสมิทธ์ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บลจ.ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทยังคงมั่นใจกองทุนทริกเกอร์ฟันด์หุ้นไทยที่เสนอขายในช่วงที่ผ่านมา สามารถทำผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ แม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะมีความผันผวนก็ตาม เนื่องจากการคัดหลักทรัพย์เข้ามาในกองทุนเป็นหลักทรัพย์ที่มีคุณภาพ และสามารถขยับราคาขึ้นได้หากภาพการลงทุนในตลาดมีทิศทางดีขึ้น
สำหรับกองทุนทริกเกอร์หุ้นไทยที่บริษัทเสนอขายให้แก่นักลงทุนตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมีประมาณ 4 กองทุน เม็ดเงินลงทุนรวม 3,590 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถปิดกองทุนทริกเกอร์ฟันด์ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้จำนวน 1 กองทุนจากทั้งหมด 4 กองทุน ทั้งนี้ เชื่อว่า 3 กองทุนที่เหลือปิดได้ตามเป้าหมายแน่นอน ส่วนกองทุนหุ้นไทยได้มีการปรับพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
“ช่วงที่หุ้นไทยมีการปรับตัวลง เป็นจังหวะเหมาะในการเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มวัสดุก่อสร้าง รับเหมาก่อสร้าง และหุ้นพลังงาน ทางบริษัทก็ได้จับจังหวะเข้าลงทุนในหุ้นดังกล่าวเช่นกัน เนื่องจากเชื่อว่าหุ้นเหล่านี้จะสามารถทำกำไรได้ในระดับสูง”
สำหรับผลการดำเนินงานบริษัทช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา บริษัทสามารถผลักดันมูลค่าสินทรัพย์ออกใหม่ของบริษัทเพิ่มขึ้นสูงถึง 200,000 ล้านบาท โตประมาณ 20% จากช่วงปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การดำเนินงานของบริษัทเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยช่วงที่ผ่านมาไม่เอื้ออำนวยมากนัก แต่ด้วยกลยุทธ์ในการมุ่งเน้นการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดต่างประเทศมากขึ้น ทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่อง
โดยกองทุนที่ออกใหม่ตั้งแต่ต้นปี 58 จนถึงปัจจุบัน แบ่งออกเป็นกองทุนหุ้นไทยจำนวน 1 กองทุน กองทุนหุ้นประเภททริกเกอร์ฟันด์จำนวน 4 กองทุน กองทุนเพื่อการลงทุนในต่างประเทศจำนวน 1 กองทุน ที่เหลือเป็นกองทุนตราสารหนี้ที่ครบอายุโครงการจำนวน 79 กองทุน