โดย ดร.มิ่งขวัญ ทองพฤกษา
Economic Research Team, Fund Management, บลจ.บัวหลวง
เฟดมีมติยืนอัตราดอกเบี้ยคงเดิมที่ 0-0.25% หลังการประชุมเมื่อวันที่ 15-16 กันยายนที่ผ่านมา สิ่งที่น่าสนใจในการประชุมครั้งนี้ พบว่าเฟดได้หยิบยกปัจจัยใหม่มาพูดถึง นั่นคือ “ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์ในจีน” แม้ว่าปัจจัยเดิมที่เฟดให้น้ำหนักหลักได้แก่ การจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อ จะมีสัญญาณฟื้นตัวที่ดีก็ตาม (สะท้อนจากการปรับขึ้นประมาณการทางเศรษฐกิจในเชิงบวกจากคราวประชุมรอบเดือนมิถุนายน เช่น ปรับจีดีพีจาก 1.9% ขึ้น 2.1% ปรับอัตราว่างงานจาก 5.3% ลดเหลือ 5.0% เป็นต้น)
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแผนภาพจุด (Dot Plot) ของเฟดแล้ว เราเห็นว่าความผันผวนของเศรษฐกิจระดับโลกทำให้ท่าทีของเฟดผ่อนปรนลง (หรือ Dovish) เนื่องด้วย Dot Plot เดือนกันยายนแสดงค่ามัธยฐาน (Median) ของ Fed Fund Rate ว่าปรับจาก 0.625% (จากการประชุมเดือนมิถุนายน) เหลือเพียง 0.375% โดยมีกรรมการส่วนหนึ่งเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรจะผ่อนคลายต่อไปอย่างน้อยถึงสิ้นปีนี้
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ประธานเฟดพยายามสื่อสารกับตลาดว่าควรให้ความสำคัญกับจังหวะการขึ้นดอกเบี้ย (Pace) มากกว่าจับตาดูแต่เพียงว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเมื่อใด (Timing)
ท่าทีของเฟดครั้งนี้ทำให้ตลาดมีปัจจัยที่ไม่แน่นอน หรือ Market Uncertainty มากขึ้น โดยค่าเงิน DXY อ่อนค่าลงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับลงเล็กน้อย (สำหรับพันธบัตรรุ่นอายุ 2 และ 10 ปี) ขณะที่ค่าเงินของกลุ่มประเทศ EM แข็งค่าขึ้น และเห็นความเป็นไปได้ว่ากระแสเงินจะไหลกลับเข้าตลาดพันธบัตร EM และทองคำในช่วงสั้น
ทั้งนี้ ตลาดได้คาดการณ์ความเป็นไปได้ต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยว่า อาจอยู่ในการประชุมรอบถัดไปในเดือนตุลาคม หรือธันวาคมของปีนี้ แต่บางส่วนก็เชื่อเฟดอาจชะลอเรื่องไปถึงต้นปีหน้า