xs
xsm
sm
md
lg

ความเสี่ยงกับนักลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์

ปัจจุบันการลงทุนผ่านกองทุนรวมมีหลากหลายประเภทมากขึ้น การพิจารณาแต่ผลตอบแทนอย่างเดิมอาจไม่เพียงพอ นักลงทุนควรพิจารณาปัจจัยอื่นๆประกอบในการเลือกลงทุนด้วยนะครับ แล้วหนึ่งในปัจจัยที่ผมจะเขียนถึงก็คือ ความเสี่ยง ซึ่งหากเป็นกองทุนตราสารทุน ผลตอบแทนย่อมสูง ความเสี่ยงย่อมสูงตาม หรือที่เรามักได้ยินคำว่า High Risk High Return และกองทุนตราสารหนี้ ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนก็มักจะต่ำตาม

ทำไมผมถึงคิดว่าความเสี่ยงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการพิจารณาลงทุน เรามาดูกันนะครับ ในปีนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีความผันผวนค่อนข้างสูง โดย SET Index ปรับตัวลดลงจากระดับ 1,497.67 จุด มาอยู่ที่ 1,382.41 จุดเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 58 ที่ผ่านมา หรือคิดเป็นลดลงประมาณ 7.7% และในส่วนของ SET50 Index ปรับตัวลดลงจาก 1,001.01 จุด มาอยู่ที่ 905.68 จุด หรือคิดเป็นลดลงประมาณ 9.5% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ในขณะที่ตลาดผันผวนความเสี่ยงจึงมีความสำคัญมากขึ้นสำหรับนักลงทุน ซึ่งตามหลักแล้วค่าความเสี่ยงยิ่งต่ำยิ่งดี โดยการวัดค่าความเสี่ยงหรือค่า Volatility สามารถคำนวณได้จากค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ของผลตอบแทนการลงทุน นอกจากการวัดค่าความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนจะช่วยให้นักลงทุนประเมินความเสี่ยงรวมถึงโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนด้วยแล้วนั้น ยังเป็นตัวช่วยกำหนดกลยุทธ์ในการปรับสัดส่วนการลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของนักลงทุนอีกด้วยครับ

โดยทั่วไปในตลาดหุ้นพบว่าช่วงที่เป็นตลาดขาขึ้น หรือ Bull Market พบว่าค่า Volatility โดยเฉลี่ยต่ำกว่าช่วงที่เป็นตลาดขาลง หรือ Bear Market ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของนักลงทุนในช่วงตลาดขาลงได้ ดังนั้นการควบคุมความเสี่ยงจึงเป็นกลยุทธ์ในการลงทุนอีกทางหนึ่ง โดยนักลงทุนสามารถปรับสัดส่วนการลงทุนตามความเสี่ยงที่เกิดขึ้นให้อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้

สำหรับผู้จัดทำดัชนีหลักในตลาดต่างประเทศ เช่น Dow Jones, S&P, MSCI, Russell หรือ FTSE ได้มีการพัฒนาดัชนีตัวเทียบวัดที่มีการกำหนดระดับความเสี่ยงหรือ Risk Control Index ซึ่งดัชนีดังกล่าวมีการลงทุนในดัชนีหลักกับเงินสด โดยมีการปรับสัดส่วนการลงทุนตามความเสี่ยงที่เกิดขึ้น (Realized Volatility) เพื่อให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่กำหนด (Target Volatility) ทั้งนี้ดัชนีดังกล่าวจะมีสัดส่วนการลงทุนตามสัดส่วนของระดับความเสี่ยงที่กำหนดต่อระดับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น (Target Volatility/Realized Volatility) กล่าวคือ เมื่อตลาดมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ก็จะทำการปรับลดสัดส่วนของการลงทุนในดัชนีหลักและเพิ่มสัดส่วนของเงินสด

ในทางกลับกันเมื่อตลาดมีความเสี่ยงลดลงก็จะปรับเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในดัชนีหลักและลดสัดส่วนการลงทุนในเงินสด ซี่งในบางช่วงเวลาเมื่อระดับความเสี่ยงต่ำกว่าระดับที่กำหนดก็สามารถลงทุนในดัชนีหลักเกิน100%ได้

ทั้งนี้ผู้จัดทำดัชนีในแต่ละดัชนีอาจมีความแตกต่างกันบ้างในเรื่องการคำนวณค่าความเสี่ยง การรีบาลานซ์พอร์ตในสัดส่วนสูงสุดในการลงทุนดัชนีหลัก โดยทั่วไปดัชนีที่มีการกำหนดระดับความเสี่ยงจะให้ผลตอบแทนดีกว่าดัชนีหลักในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤติ แต่จะให้ผลตอบแทนไม่ดีเท่ากับในช่วงที่ตลาดกลับตัวจากภาวะดังกล่าวอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ดีการลงทุนตามดัชนีที่มีการกำหนดระดับความเสี่ยงก็จะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

จากข้อมูลข้างต้นคงทำให้นักลงทุนผ่านกองทุนรวมหลายๆท่าน อาจจะคำนึงถึงความเสี่ยงเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาเลือกลงทุนนอกจากการดูแค่ผลตอบแทนหรือบริษัทจัดการนะครับ สำหรับนักลงทุนทั่วไปก็อาจนำวิธีดังกล่าวนำมาประยุกต์ใช้ในการปรับสัดส่วนการลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และยังช่วยลดความผันผวนได้อีกด้วยนะครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น