โดย สุทยุต เชื้อพานิช
บลจ. MFC
ในภาวะที่ตลาดหุ้นในประเทศไทย (SET Index) อยู่ในช่วงที่ค่อนข้างซบเซา นักลงทุนหลายๆ คนอาจมีปัญหาในการเลือกหุ้นที่จะลงทุนอยู่พอสมควร เนื่องจากเมื่อตลาดหุ้นโดยรวมอยู่ในช่วงขาลง หุ้นในตลาดส่วนใหญ่ก็จะมีผลตอบแทนที่ไม่ดีไปด้วย ทำให้เราน่าจะกลับมาคิดถึงหลักการลงทุนพื้นฐานในเรื่องการกระจายการลงทุนอีกครั้งหนึ่ง การกระจายการลงทุนช่วยอะไรเราได้บ้าง ประโยชน์ของการกระจายการลงทุนหลักๆ ก็คงจะเป็นการลดความเสี่ยงใน Portfolio ลง และเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนทางการลงทุนให้มากขึ้น
หลักพื้นฐานในการกระจายความเสี่ยงก็คือการกระจายเงินลงทุนในการถือครองสินทรัพย์หลายๆ ชนิด เป็นโชคดีของนักลงทุนไทยที่ในปัจจุบันนักลงทุนในประเทศไทยมีทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลายขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตราสารทุนทั้งใน และต่างประเทศ การลงทุนในตราสารหนี้ทั้งใน และต่างประเทศ อีกทั้งการลงทุนในการลงทุนทางเลือกต่างๆ เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ และอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
ในขั้นแรกนักลงทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นในประเทศอาจจะเริ่มจากการกระจายการลงทุนไปในหุ้นต่างประเทศก่อน เนื่องจาก Risk Profile ของตราสารทุนต่างประเทศค่อนข้างคล้ายคลึงกับของหุ้นในประเทศ แต่การลงทุนในหุ้นในหลายๆ ประเทศไม่ได้แปลว่าความเสี่ยงโดยรวมของนักลงทุนจะเท่ากับการลงทุนในหุ้นในตลาดเดียว
ทั้งนี้ จะขออธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ เป็นตัวอย่าง Case Study ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 โดยราคาน้ำมันในตลาด New York ปรับลดลงจากราคาที่สูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงกลางปี 2557 มาอยู่ที่ราคาต่ำกว่า 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงต้นปี 2558 ในช่วงเวลาดังกล่าวราคาหุ้นของประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก Underperform อย่างมีนัยสำคัญ (เช่น ตลาดหุ้นมาเลเซีย (มาเลเซียเป็นประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกน้ำมันค่อนข้างมาก) ปรับตัวลดลงมากกว่าร้อยละ 10 ในขณะที่ตลาดหุ้นอินเดีย (อินเดียเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่) ปรับตัวสูงขึ้นมากว่าร้อยละ 15 ในช่วงเวลาดังกล่าว
อีกตัวอย่างที่ชัดเจนคือ Performance ของหุ้นในแต่ละประเทศอาจจะแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญจากนโยบายทางการเงินการคลังที่แตกต่างกัน โดยในปัจจุบันสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่ดำเนินนโยบายแบบเข้มงวดมากขึ้น ในขณะที่ยุโรป และญี่ปุ่นยังคงดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายอยู่ (Policy Divergence) ส่งผลให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในสหรัฐฯ (YTD) ปรับตัวขึ้นเพียงไม่ถึงร้อยละ 3 ในขณะที่หุ้นในยุโรป และญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 13 และ 17 ในช่วงเวลาเดียวกัน
จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาเดียวกัน ตลาดหุ้นในประเทศที่มีพื้นฐานแตกต่างกันอาจมีผลตอบแทนจากการลงทุนที่ต่างกันมากได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่สนับสนุนการกระจายการลงทุนไปในหลายๆ ที่เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีผลตอบแทนติดลบจากตลาดใดตลาดหนึ่งอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะเดียวกันนักลงทุนก็มีโอกาสลงทุนในตลาดที่คาดว่าจะมีผลตอบแทนที่ดีได้มากขึ้น
นักลงทุนบางคนอาจสงสัยว่าเราจะกระจายการลงทุนไปทำไม ในเมื่อเราสามารถเลือกลงทุนในตลาดหุ้นที่ปรับตัวขึ้นเท่านั้นก็ได้ อย่างเช่นในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ก็ควรจะลงทุนแต่ในหุ้นอินเดีย ก็จะทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดีอย่างมีนัยสำคัญ แต่ประเด็นก็คือ ก่อนที่ราคาน้ำมันจะลงอย่างมีนัยสำคัญมีนักลงทุนไม่กี่คนที่คิดว่าราคาน้ำมันจะปรับลดลง (การคาดการณ์อนาคตได้อย่างถูกต้องอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก) ดังนั้นทางเลือกที่เป็นไปได้มากกว่าสำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่ก็คงจะเป็นการกระจายความเสี่ยง
เราพูดถึงการกระจายความเสี่ยงในขั้นแรกกันไปแล้ว (การกระจายการลงทุนไปในตราสารทุนต่างประเทศ) ในลำดับต่อไปลองมาดูการกระจายการลงทุนไปในหลายๆ Asset Classes กันบ้าง การกระจายการลงทุนไปในตราสารทุนประเทศต่างๆ อาจจะช่วยลดความเสี่ยงให้นักลงทุนได้ในบางส่วน แต่การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นสามัญในตลาดโดยปกติมักจะมีการเคลื่อนไหวไปทิศทางเดียวกัน แม้ว่าจะไม่ได้เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมดก็ตาม ซึ่งหากนักลงทุนกระจายการลงทุนของตนเองไปอยู่ในหุ้นสามัญเท่านั้น ก็อาจจะทำให้การกระจายการลงทุนของนักลงทุนไม่บรรลุประสิทธิภาพเท่าที่ควร
วิธีที่นักลงทุนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายความเสี่ยงในขั้นถัดไปก็คือการกระจายการลงทุนไปในหลายๆ Asset Classes หนึ่งในตัวอย่างเหตุการณ์ที่จะทำให้เห็นประโยชน์จากการลงทุนใน Asset Classes ที่แตกต่างกันได้อย่างชัดเจน ได้แก่ ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ ในสหรัฐฯ เมื่อปี 2551 โดยในช่วงเวลาดังกล่าวตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ดัชนี MSCI ACWI ปรับลดลงประมาณร้อยละ 45 แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดียวกันราคาตราสารหนี้ระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 20
จะเห็นได้ว่าการกระจายการลงทุนเป็นวิธีที่ช่วยนักลงทุนให้ลดความเสี่ยงจากการลงทุนในตลาดใดตลาดหนึ่ง หรือ Asset Classes ใด Asset Classes หนึ่งได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้นในการลงทุนสำหรับนักลงทุนอีกด้วย
ความคิดเห็นและข้อความต่างๆ ในบทความนี้เป็นทัศนะของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย