คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดยวรวรรณ ธาราภูมิ
CEO กองทุนบัวหลวง
ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมลุงตู่ถึงไว้วางใจมอบหมายงานสำคัญมากๆ หลายอย่างให้ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ กระทำ จนล่าสุด ให้ดำรงตำแหน่ง รมว.พลังงาน
เพราะจากการพบกันในครั้งแรกนี้ พบว่า ท่านรู้เรื่องพลังงานดีมาก ลึกมาก และน่าจะได้ศึกษาเรื่องนี้มานานแล้วด้วย คิดในเชิงกลยุทธ์ จริงจัง จริงใจ ไม่อ่อนไป ไม่แข็งไป รับฟังความเห็นต่าง กับเปิดกว้างทางความคิด และมีทักษะในการสื่อความที่ดีมาก
รมว.พลังงาน ระบุว่า ไฟฟ้ามาจาก EGAT 50% มาจากเอกชน 43% ที่เหลือเป็นพลังงานนำเข้า และพลังงานทดแทน เรามีแนวโน้มจะใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด ที่จะขยายไปตาม Urbanization ทั้งนี้ จะดูภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก กับดูด้านไบโอด้วยเพราะต้นทุนต่ำ และหาได้ในหลายพื้นที่ ชาวบ้านจะได้ใช้ไฟฟ้าถูกลง อย่างเขื่อนที่เปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า เมื่อมีไฟฟ้าเหลือก็ให้จำหน่ายออกไปแม้จะไม่คุ้มค่าเพราะไฟฟ้าเก็บสต๊อกไม่ได้
ขณะนี้เราใช้ก๊าซธรรมชาติมากเกินไป และหากจะใช้พลังงานทดแทนเกินไปก็ไม่ดี เพราะไม่เสถียร
นโยบายด้านพลังงานจึงจะเน้นเรื่องการกำหนดสัดส่วนโครงสร้างพลังงานเพื่อให้มีที่มาจากหลายๆ ชนิด (Diversification) เพื่อความยั่งยืน โดยจะรักษาสัดส่วนโครงสร้างที่กำหนดเอาไว้ ทั้งพลังงานดั้งเดิม เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน รวมไปถึงพลังงานทดแทน เช่น พลังงานชีวภาพ ชีวมวล ลม โซลาร์ และขยะ ซึ่งเรื่องพลังงานทดแทนนั้นจะเน้นที่ขยะเนื่องจากได้ทั้งการกำจัดขยะ และได้ทั้งพลังงาน แต่จะให้กระทรวงมหาดไทย ดูแลเพราะเขาดูแลท้องถิ่นต่างๆ อยู่แล้ว
นึกไปถึงการจัดพอร์ตโฟลิโอลงทุนของเราแต่ละคนที่ผสมผสาน (Asset Allocation) เพื่อให้มีการกระจายการลงทุน (Diversify ที่เหมาะสมต่อเราเอง และจะต้องจัดสมดุลใหม่ (Rebalancing)) ให้มีสัดส่วนลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ กันตามเป้าหมายที่กำหนด .... นโยบายพลังงานก็ทำคล้ายๆ อย่างนี้แหละ
รัฐบาลได้สั่งให้จัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579 (PDP 2015) แล้ว โดยเป็น 1 ใน 5 แผนบูรณาการพลังงานระยะยาวเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้ประเทศในราคาที่ประชาชนยอมรับ (ไม่ให้ราคาแตกต่างกับที่อื่นอย่างไม่มีเหตุผล จะให้ราคาแก๊ส น้ำมัน สะท้อนความเป็นจริง ยกเว้นแก๊สหุงต้ม) ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน รวมทั้งลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ดำเนินงานตามนโยบาย กระทรวงพลังงาน โดยเฉพาะการพัฒนาพลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมีความคืบหน้าแล้วหลายส่วน และเป็นนโยบายหลักของกระทรวงที่ต้องมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง
แผนพลังงาน หรือ PDP 2015 มีแผนพลังงานหลักและแผนพลังงานทางเลือก ครอบคลุมตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปี 2079 รวม 21 ปี
น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ จะขุดเจาะเองร่วมทุนกับเอกชน และร่วมมือร่วมทุนกับเพื่อนบ้านโดยเฉพาะกัมพูชา ซึ่งต้องเจรจากันแบ่งปันผลประโยชน์ให้เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย และมองรอบด้านในทุกมิติ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการนำเข้า เพราะเราต้องยืนได้ด้วยตนเอง จะได้มีความมั่นคงทางพลังงานมากขึ้น
ด้านแผนอนุรักษ์พลังงานนั้น ได้ตั้งเป้าจะลดอัตราเร่งในการใช้ไฟฟ้าให้ลดลง 30% (อัตราเร่งในปัจจุบัน 15%) เช่น สนับสนุนให้ใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน เป็นต้น
รมว.ระบุว่า ถ่านหินเป็นพลังงานที่มีต้นทุนต่ำที่สุด และเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็สะอาดมาก แต่ก็ต้องการให้ทุกอย่างถูกต้อง โปร่งใส พิสูจน์ความจริงได้ และต้องทำให้ประชาชนมั่นใจ ส่วนเรื่องถ่านหินที่กระบี่ กำลังให้หาข้อมูลศึกษาเพิ่มเติม ทั้งด้านผลดี และการเสียโอกาสในเรื่องการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม
แต่จะอย่างไรก็ต้องมีแหล่งโรงไฟฟ้าถ่านหินสักที่ เพราะไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีไฟฟ้าพอเพียง
มีแผนจะวางท่อแก๊สใหม่ เพราะต้องส่ง LPG มากขึ้น อาจวางผังใหม่โดยจะทำตามขั้นตอนทุกอย่าง และให้ไม่กระทบต่อชุมชน หากกระทบก็ต้องมีการเยียวยาจัดการ
ส่วนเรื่องสัมปทานฉบับเก่า เช่น ระบบ Thailand 1 ของหลายแหล่งที่กำลังจะหมดลงในปี 2565 นั้น รมว.ตอบว่า ผลที่แน่นอนว่าจะต่อให้หรือไม่นั้นจะต้องจบลงภายใน 1 ปี แต่สถานะในปัจจุบันคือจะหมดเวลาสัมปทานเมื่อถึงกำหนดที่ระบุไว้ และกระบวนการที่ถูกต้องคือ จะเปิดสัมปทานให้ผู้สนใจทั้งรายเก่า รายใหม่เข้ามา Bid
ทั้งนี้ รมว. เข้าใจว่าต้องรีบตัดสินใจ และเข้าใจว่าเรื่องโกงหรือไม่ มันไม่เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนบริษัทพลังงานไทยให้เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ