โดยดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr.win@one-asset.com
สัปดาห์ที่ผ่านมา ความร้อนแรงของการประกาศลดอัตราเงินค่าเงินของทางการจีน ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก เพราะการตัดสินใจครั้งนี้ของทางการจีนเป็นมาตรการที่เกินความคาดหมายของตลาด และส่งผลให้ภายใน 1 สัปดาห์อัตราอ้างอิงค่าเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐลดลงอย่างรวดเร็วถึง 3.5% หลังจากทางการจีนประกาศลดค่าเงินหยวนถึง 2 ครั้งติดต่อกันโดยครั้งแรกวันที่ 11 สิงหาคม ปรับลดหยวนลง 1.9% มาอยู่ที่ 6.2298 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐและวันที่ 12 สิงหาคม ปรับลดค่าเงินหยวนลงอีกลง 1.62% มาอยู่ที่ 6.33 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ จากมาตรการของธนาคารจีนในครั้งนี้
ผมมองว่า เป็นการแสดงท่าทีว่าทางการจีนพร้อมที่จะดำเนินนโยบายการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหากมีความจำเป็น โดยที่ผ่านมาทางการจีนแสดงให้เห็นมาตลอดผ่านมาตรการต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์(RRR) มาแล้วหลายครั้งในปีนี้ จัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น รวมถึงปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ให้นักลงทุน Short หุ้นได้ยากขึ้น ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมา หลังจากจีนลดค่าเงินหยวนก็มีการรายงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินในประเทศแถบเอเชีย โดยค่าเงินริงกิตมาเลย์เซียและเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 17 ปี เงินดอลลาร์สิงคโปร์และเงินเปโซของฟิลลิปปินส์แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี และเงินสกุลวอนของเกาหลีใต้อ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 3 ปี
อย่างไรก็ตาม จากท่าทีของทางการจีน ผมเชื่อว่า เศรษฐกิจจีนไม่น่าชะลอตัวรุนแรง(Hard Landing) เพราะมาตรการดังกล่าวจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจีนเหมือนเช่นทางการประเทศญี่ปุ่นที่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการปล่อยให้เงินเยนอ่อนค่า อย่างไรก็ดี การลดค่าเงินหยวนแบบฉับพลันจะเป็นอีกปัจจัยที่ต้องติดตามต่อไปว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดแรงขายของสกุลเงินอื่นในแถบเอเชียตามมาอีกหรือไม่ เพราะปัจจุบันนี้ทางการของหลายๆประเทศในแถบเอเชียยังคงใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นภาคการส่งออกของประเทศปรับตัวดีขึ้นผ่านการใช้มาตรการลดค่าเงินของประเทศตนเองเป็นเครื่องมือ รวมถึงประเทศจีนด้วยเช่นกัน เนื่องจากจะทำให้ราคาสินค้าตนเองถูกลงโดยเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง
ทั้งนี้ หากกลับมามองถึงปัจจัยสำคัญในการผลักดันการส่งออกแล้วนั้น คงต้องมีปัจจัยอื่นเป็นองค์ประกอบควบคู่ไปกับค่าเงินของประเทศตนด้วย โดยเฉพาะในเรื่องความสามารถในการแข่งขันของสินค้าในระดับสากล ซึ่งหากต้องการพัฒนาภาคการส่งออกให้มีความยั่งยืน การพัฒนาเรื่องสินค้ารวมถึงคุณภาพของสินค้าส่งออกจะเป็นเหตุผลสำคัญมากกว่าแข่งขันทางด้านราคาและน่าจะเป็นสิ่งช่วยให้ภาพการส่งออกมีเสถียรภาพในระยะยาวโดยการพัฒนาควรเริ่มจากการพัฒนาศักยภาพการผลิต อาทิ คุณภาพแรงงาน และ เทคโนโลยีต่างๆ ให้มีมาตรฐานที่ดี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล เพราะท้ายที่สุดแล้ว ทุกๆประเทศย่อมต้องการนำเข้าสินค้าที่มีคุณภาพเข้าประเทศของตนเองเสมอควบคู่กันไป
นอกจากนี้ ปัจจัยที่นักลงทุนต้องติดตามในช่วงนี้ ได้แก่ ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ที่จะมีขึ้นในวันที่ 17-18 กันยายนนี้ จะเป็นตัวแปรสำคัญต่อทิศทางค่าเงินทั่วโลก เพราะจะส่งผลต่อการอ่อนหรือแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหากเฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้มีการไหลของค่าเงินไหลกลับไปยังประเทศสหรัฐและสกุลเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะยิ่งกดดันให้สกุลเงินในเอเชียอาจมีผันผวนมากขึ้น อย่างไรก็ดี หากค่าเงินมีความผันผวนที่ผิดปกติ ผมเชื่อว่า ทางการของแต่ละประเทศในแถบเอเชียย่อมมีกลไลที่สามารถเข้ามาแทรกแซงเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินในประเทศของตนเองได้
•นักลงทุนสามารถสอบถามเพิ่มเติมและขอรับร่างหนังสือชี้ชวนได้ที่ฝ่ายบริการลูกค้าและสนับสนุนธุรกิจที่หมายเลข 02-659-8888 ต่อ 1 ครับ
•“ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน”