กองทุนบัวหลวงเผยหลากหลายปัจจัยทั้งภายใน-ภายนอกประเทศกระหน่ำตลาดหุ้นไทย แต่ยังมีโอกาสของนักลงทุนระยะยาวที่จะทยอยลงทุน แนะกระจายการลงทุนให้หลากหลายในสินทรัพย์ด้วยการลงทุนแบบ DCA หริอถัวเฉลี่ยต้นทุน
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กองทุนบัวหลวง เปิดเผยว่า จากหลากหลายปัจจัยภายนอกที่รุมเร้า ทั้งวิกฤตหนี้สินของกรีซ เศรษฐกิจจีนชะลอตัวและตลาดหุ้นจีนทรุดตัวอย่างหนัก รวมถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ ประกอบกับปัจจัยภายในด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกที่ไม่เป็นไปอย่างที่รัฐบาลคาดหวัง ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่องหลายเดือน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หนี้สินครัวเรือนสูงจนกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐก็ยังล่าช้า ทำให้หลายสถาบันต้องปรับลดการขยายตัวของ GDP ลงจากเดิมเกือบ 3.5-4.0% เหลือประมาณ 2-3% ซึ่งแม้ว่ารายได้ภาคการท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้องยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีสัดส่วนต่อ GDP เพียง 10-15%
สำหรับในช่วงครึ่งปีที่เหลือนี้คาดว่าเศรษฐกิจจะยังคงทรงตัว โดยมีความหวังหลักขึ้นอยู่กับการลงทุนจากภาครัฐว่าจะสามารถเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนและเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ให้รวดเร็วขึ้นได้หรือไม่ แค่ไหน หากทำได้ดีภาคธุรกิจเอกชนซึ่งมีขนาด 20% ของจีดีพี และประชาชนก็จะเกิดความมั่นใจมากขึ้น แม้ว่าเม็ดเงินในส่วนนี้จะมีสัดส่วนต่อจีดีพีไม่มากนัก หรือประมาณ 5% ก็ตาม
“แม้รัฐบาลจะได้แก้ไขปัญหาที่สะสมมานานไปบางเรื่องแล้ว แต่ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกไม่เป็นใจอย่างนี้ การทำให้เอกชนและประชาชนมีความมั่นใจจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งในภาวะปกติจะเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่ต้องออกมาสื่อสารให้ภาคธุรกิจและเอกชนเข้าใจสถานการณ์และเตรียมพร้อมในการรับมือ” นางวรวรรณกล่าว
นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา Managing Director และ Chief Investment Officer กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยได้ซึมซับข่าวร้ายทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศแล้ว สะท้อนให้เห็นจากการที่ราคาหุ้นมีการปรับลดลง พร้อมทั้งมีการปรับลดประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียน อย่างไรก็ตาม ยังไม่เห็นปัจจัยบวกใหม่ จึงคาดว่าตลอดช่วงที่เหลือของปีตลาดหุ้นจะเคลื่อนไหว Sideways
สำหรับนักลงทุน หากมองเชิงมหภาคหรือภาพรวมทั้งตลาดหุ้นไทยก็ไม่น่าสนใจเท่าที่ควร แต่หากพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรมและรายบริษัทแล้ว การลดลงของราคาหุ้นบางตัวกลับทำให้ Valuation เริ่มน่าสนใจ ซึ่งเป็นโอกาสของนักลงทุนระยะยาวที่จะทยอยเก็บของ แต่ต้องเป็นนักลงทุนที่อดทนกับความผันผวนในช่วงนี้ได้
“การกระจายการลงทุน (Diversification) การกำหนด Asset Allocation และ Rebalance หรือปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ความเสี่ยง และผลตอบแทนที่นักลงทุนแต่ละคนจะยอมรับได้ จะช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนได้ดี เพราะในภาวะที่ตลาดหุ้นปรับตัวลง การถือเงินสดหรือสินทรัพย์สภาพคล่องจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับซื้อหุ้นที่มีคุณภาพในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าเป้าหมาย รวมถึงควรวางแผนและเข้าใจความจำเป็นการออมในระยะยาวเพื่อวางแผนยามเกษียณ โดยสามารถลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน (DCA-Dollar Cost Averaging) ที่ลงทุนเป็นงวด งวดละเท่าๆ กัน อย่างสม่ำเสมอ” นายพีรพงศ์กล่าว
ทั้งนี้ ล่าสุด มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) รายงานผลการดำเนินงานกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) พบว่า การที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงได้ทำให้ผลการดำเนินงานกองทุนทั้ง 2 ประเภทปรับตัวลงไปด้วย ทั้งผลการดำเนินงานตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน หรือในรอบ 7 เดือน (สิ้นสุด ณ 28 ก.ค.) และผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาผลการดำเนินงานระยะยาวย้อนหลัง 3 ปี และ 5 ปี พบว่าผลการดำเนินงานยังเป็นบวก
จากการที่มอร์นิ่งสตาร์ได้จัดอันดับให้กองทุน RMF-LTF ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดย้อนหลัง 5 ปี (สิ้นสุด ณ 28 ก.ค.) พบว่า บลจ.บัวหลวง จำกัด ครองแชมป์ทำผลตอบแทนสูงสุดในกองทุน 2 ประเภท คือ กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว (B-LTF) ให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปีที่ 17.59% ต่อปี และกองทุนเปิดบัวหลวงตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (BERMF) ให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปีที่ 17.63% ต่อปี
กองทุน B-LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2558 กว่า 32,542 ล้านบาท และมีผลตอบแทนย้อนหลัง ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2558 สำหรับช่วงเวลา 3 เดือน อยู่ที่ -4.94% 6 เดือน อยู่ที่ -4.75% 1 ปี อยู่ที่ -7.45% 3 ปี อยู่ที่ 35.89% 5 ปี อยู่ที่ 128.37% 10 ปี อยู่ที่ 256.46% และตั้งแต่เริ่มตั้งกองทุนอยู่ที่ 248.35% โดยเกณฑ์มาตรฐานตามเกณฑ์สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สำหรับช่วงเวลา 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี 3 ปี 5 ปี 10 ปี และตั้งแต่จัดตั้งกองทุนอยู่ที่ -7.42%, -8.93%, -6.72%, 22.25%, 68.27%, 113.14% และ 130.13% ตามลำดับ
กองทุน BERMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2558 กว่า 6,333 ล้านบาท มีผลตอบแทนย้อนหลัง ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2558 สำหรับช่วงเวลา 3 เดือน อยู่ที่ -5.07% 6 เดือน อยู่ที่ -4.86% 1 ปี อยู่ที่ -7.48% 3 ปี อยู่ที่ 35.75% 5 ปี อยู่ที่ 128.72 % 10 ปี อยู่ที่ 260.30% และตั้งแต่เริ่มตั้งกองทุน อยู่ที่ 717.01% โดยเกณฑ์มาตรฐานตามเกณฑ์สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สำหรับช่วงเวลา 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี 3 ปี 5 ปี 10 ปี และตั้งแต่จัดตั้งกองทุนอยู่ที่ -7.42%, -8.93%, -6.72%, 22.25%, 68.27%, 113.14% และ 298.69% ตามลำดับ