โดยกันดารัตน์ สูตะบุตร
Product Development
บลจ.บัวหลวง
กรมสรรพากรกำหนดรายได้ที่ไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้บุคคลไว้หลายประเภท สำหรับบางคนที่ลงทุนใน RMF และ/หรือ LTF มักนำรายได้ที่ไม่ต้องเสียภาษีพวกนี้มารวมกับรายได้ที่ต้องเสียภาษี เช่น เงินเดือน คอมมิชชัน อินเซนทีฟ และโบนัส ช่วยให้ฐานรายได้ของตัวเองใหญ่ขึ้น เมื่อนำมาคำนวณหาเงินขั้นสูงสุด 15% สำหรับสิทธิซื้อ RMF/LTF ก็ช่วยให้ได้จำนวนเงินลงทุนที่เพิ่มตามไปด้วยไม่มากก็น้อย
แต่ไม่ว่าจะพยายามให้ได้สิทธิมากแค่ไหน แต่เงื่อนไขการลงทุนกำหนดไว้ชัดว่าสามารถซื้อ RMF/LTF ได้สูงสุดในทุกกรณีไม่เกิน 500,000 บาท
ความพยายามที่จะสร้างฐานรายได้ด้วยรายได้ที่ไม่ต้องเสียภาษีตรงนี้นั้น เป็นที่มาของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 257-259 เมื่อ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่าด้วยการเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน RMF และ LTF โดยให้เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปีนี้
ประกาศทั้งสามฉบับได้แก้ไขสาระสำคัญเกี่ยวกับเงินได้ที่จะนำมาคำนวณสิทธิซื้อ RMR และ LTF ของแต่ละปี ทั้งสิทธิซื้อขั้นต่ำไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 (เฉพาะกรณี RMF) และสิทธิซื้อขั้นสูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 (ทั้ง RMF และ LTF) จาก “ของเงินได้ที่ได้รับในแต่ละปี” (ประกาศเก่า) เป็น “ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี” (ประกาศใหม่)
จะเห็นได้ว่าแก้ไขถ้อยคำจาก “เงินได้ที่ได้รับ” เป็น “เงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้” ให้มีความชัดเจน และรัดกุมยิ่งขึ้น
กล่าวให้กระชับก็คือ กรมสรรพากรกำหนดให้ใช้รายได้เฉพาะที่ต้องเสียภาษีเงินได้เท่านั้น เป็นฐานคำนวณหาสิทธิขั้นสูงสุด 15% ในการลงทุนซื้อ RMF/LTF
นั่นหมายถึงส่วนต่างของส่วนเกินทุนที่ได้จากการขายคืน RMF/LTF อย่างถูกต้องตามเงื่อนไข ซึ่งได้รับยกเว้นภาษี แต่ได้รับสิทธินำมาคำนวณรวมกับรายได้อื่นๆ ที่เสียภาษีเพื่อหาสิทธิที่จะซื้อ RMF/LTF ได้ แต่เริ่มจากปีภาษีนี้ (2558) ไม่สามารถทำได้อีกต่อไปแล้ว ตามประกาศทั้งสามฉบับ
ใครที่เคยนำรายได้ที่ไม่ต้องเสียภาษีนำมาบวกรวมเป็นรายได้ประจำปีเพื่อเพิ่มฐานให้ตัวคูณ 15% ไม่อาจทำแบบนั้นต่อไปได้อีกแล้ว สำหรับท่านที่มีรายได้ที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษี ก็จะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด