โดย ทีมจัดการการลงทุน
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาการปรับลดลงของตลาดหุ้นจีน โดยเฉพาะ Shanghai Composite Index ที่ร่วงลงกว่า 29% จากระดับสูงสุดในช่วงกลางเดือนมิถุนายน และShenzhen Index ซึ่งประกอบด้วยบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็กปรับลดลงกว่า 35% อาจทำให้นักลงทุนกังวลถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจจีน อันเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาสถาบันการเงิน และความมั่งคั่ง (wealth effect) ของประชาชนจีน ที่ลดลงอย่างรวดเร็วนั้น จากการวิเคราะห์โดยละเอียด ผู้จัดการกองทุนมั่นใจว่าผลกระทบจากการร่วงลงของดัชนีหุ้นจีนดังกล่าวจะมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนยังห่างไกลจากคำว่า “hard landing” อยู่พอสมควรเลยทีเดียว หากจะประเมินผลกระทบโดยละเอียดนั้นสามารถแบ่งแยกเป็นประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้
1. ตลาดหุ้นจีน หรือเศรษฐกิจจีนกันแน่ที่เกิดภาวะฟองสบู่ สำหรับเศรษฐกิจจีน เป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจีนพยายามที่จะควบคุมการขยายตัวของเศรษฐกิจผ่านการปฏิรูปเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ในทิศทางที่ชะลอลง แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า target GDP growth นั้นอยู่ที่ 7% ในปีนี้ ซึ่งก็ไม่มี surprise ใดๆ และจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกของปี 2015 ก็ยังคง in line กับที่รัฐบาลจีนวางแผนไว้ ดังนั้น เศรษฐกิจจีนไม่ได้เกิด bubble แน่ๆ
ในทางตรงข้าม ขณะที่เศรษฐกิจจีนยังคงเติบโตไปแบบเรื่อยๆ ตลาดหุ้นโดยเฉพาะในตลาด Shanghai และ Shenzhen กลับปรับตัวสูงขึ้นสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ PER valuation ของตลาดทั้ง 2 ปรับสูงขึ้นจากระดับ 10 เท่าของตลาด Shanghai และ 20 เท่าของตลาด Shenzhen ในต้นปี 2015 ปรับขึ้นไปสูงถึง 20 เท่า และ 45 เท่า ตามลำดับในกลางเดือนมิถุนายน 2015 จากแรงเก็งกำไรของนักลงทุน ทำให้ valuation สูงไปกว่าระดับที่ควรจะเป็นไปอย่างมาก ดังนั้น เมื่อรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการที่จะลดความร้อนแรงของตลาดหุ้นลง จึงทำให้ลูกโป่งที่พองลมนั้นแตกลงจากแรงเทขาย ดังนั้นปัญหาของการปรับลดลงของดัชนีในช่วงที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่าเป็นการปรับตัวที่เป็นปกติของตลาดหุ้น ที่เมื่อมี valuation สูงเกินไปก็จะเกิดการ correction ลงมา
2. ผลกระทบต่อระบบการเงินจีนจะสามารถควบคุมได้ ทั้งนี้ การปรับลดลงของตลาดหุ้นจะกระทบผู้เกี่ยวข้องหลัก คือ บริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งได้รับความเสียหายจากการปล่อยกู้ margin loans และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ที่ได้รับผลกระทบจากการ redeem หน่วยลงทุนของนักลงทุน แต่ทั้งนี้ หากเทียบขนาดสินทรัพย์ของ บล. และ บลจ. รวมกันจะมีขนาดเพียงแค่ 5% ของสินทรัพย์ของสถาบันการเงินรวมทั้งระบบ นอกจากนี้ ทางการจีนยังได้ออกมาตรการที่จะเพิ่มสภาพคล่องให้แก่สถาบันการเงินที่มีปัญหา ดังนั้น ความเสียหายต่อระบบสถาบันการเงินจึงมีค่อนข้างจำกัด และจะไม่บานปลายจนเป็นเหตุให้เศรษฐกิจจีนมีปัญหา ในส่วนของ corporate นั้น การระดมทุนเพื่อใช้ในกิจการส่วนใหญ่จะเป็นการกู้ยืมจากธนาคารสูงถึง 77% ของ Total Social Financing (TSF) การระดมทุนผ่านตลาดหุ้นคิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 4% ของ TSF ดังนั้น การที่เกิด panic sell ในตลาดหุ้นที่อาจจะกระทบต่อแผน IPO ของบริษัทในจีน จะมีผลกระทบต่อสภาพคล่องของบริษัทในขอบเขตจำกัด
3. ทางด้าน wealth effect ของประชาชนจีนที่อาจจะลดลงจากการร่วงลงของราคาหุ้นซึ่งจะส่งผลกระทบไปยังการใช้จ่ายของประชาชนนั้น ผู้จัดการกองทุนเชื่อว่ามีจำกัดเช่นกัน เพราะหากมาดูการถือครองสินทรัพย์ของประชาชน จีน ณ สิ้นเดิอนพฤษภาคม 2015 ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของเงินฝากถึงกว่า 49% และเป็นเงินลงทุนใน insurance products ที่ 11% จะมีสินทรัพย์ที่อิงกับการลงทุนในตลาดหุ้นเพียงแค่ 18% เท่านั้น และหากนำการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มานับรวมเป็นสินทรัพย์รวม การลงทุนในตลาดหุ้นจะมีสัดส่วนเพียงแค่ 11% ดังนั้น wealth หลักของประชาชน จึงไม่ได้อิงกับตลาดหุ้นมากอย่างที่เข้าใจกัน นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นและลงของดัชนีตลาดหุ้นในรอบนี้ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาประมาณ 3 เดือน ดังนั้น จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนอย่างถาวร
กล่าวโดยสรุปจากการวิเคราะห์ตามประเด็นข้างต้น บลจ. ทิสโก้เชื่อว่าความตื่นตระหนกจากการดิ่งลงของราคาหุ้นในจีน อาจจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นบ้าง แต่จะไม่กระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อระบบสถาบันการเงิน และการขยายตัวของเศรษฐกิจที่จะถูกฉุดจากการหดตัวของการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ดังนั้น เรายังคงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ไว้ที่ 6.5%-7.0% เช่นเดิม บลจ. ทิสโก้เชื่อว่า การลงทุนในตลาดหุ้นจีนหากลงทุนถูกจังหวะและใน valuation ที่เหมาะสม ตลาดหุ้นจีนจะยังคงเป็นตลาดที่น่าสนใจเช่นเดิม