xs
xsm
sm
md
lg

เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย ประเทศไทยพร้อมหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โดย บัวหลวง Money Tips
โดย ปัญญพัฒน์ ประคุณหังสิต
กองทุนบัวหลวง

แน่ชัดแล้วว่าภายในปีนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1-2 ครั้ง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินครั้งใหญ่ หลังดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายมานานถึง 6 ปี ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ใกล้ 0% และรวมทั้งออกมาตรการ QE 1-3

สัญญาณดังกล่าวได้สร้างความหวั่นวิตกไปทั่วตลาดเงินและตลาดทุนของโลก จนผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟต้องเตือนให้ FED คำนึงถึงผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ด้วย ทั้งยังแนะนำให้ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไปก่อน เพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างชัดเจนมากกว่านี้

การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดนั้นสำคัญไฉน และส่งผลกระทบต่อกลุ่ม EM อย่างไร

หลังผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 FED ยึดมั่นดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วยการกดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้อยู่ในระดับต่ำ และเพิ่มสภาพคล่องในตลาดการเงินผ่านการทำ QE ทำให้นักลงทุนทั่วโลกจำเป็นต้องแสวงหาทางเลือกอื่นๆ ในการลงทุนเพื่อช่วยเพิ่มผลตอบแทน หนึ่งในทางเลือกดังกล่าวนั้นคือ การลงทุนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) ที่ขณะนั้นมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและผลตอบแทนจากการลงทุนสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ โดยไอเอ็มเอฟประเมินว่าในช่วงปี 2009-2013 ซึ่งเป็นช่วงที่ FED เดินหน้านโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ทำให้เงินทุนไหลเข้าสู่กลุ่มประเทศ EM กว่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งในรูปของการลงทุนตรงในภาคธุรกิจจริง (FDI) และการลงทุนในตลาดหุ้นกับตลาดตราสารหนี้

อย่างไรก็ตาม Ben Bernanke อดีตประธาน FED เคยปรารภเมื่อกลางปี 2013 ว่าจะชะลอมาตรการ QE (Taper Tantrum) จนก่อให้เกิดความหวาดหวั่นว่าอาจจะนำไปสู่วิกฤตรอบใหม่ในกลุ่มประเทศ EM นักลงทุนต่างประเทศจึงใช้เป็นจังหวะเทขายเพื่อรับรู้กำไร จนเกิดกระแสเงินไหลออกจากกลุ่มประเทศ EM อย่างรุนแรง ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนในทุกประเภทสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศ EM ลดฮวบมาอยู่ที่ -8% ถึง -12%

ด้วยเหตุนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่กำลังจะเกิดขึ้นจะทำให้กระแสเงินไหลออกจากกลุ่มประเทศ EM ซ้ำรอยช่วง Taper Tantrum ได้เช่นกัน

ประเทศไทยพร้อมรับมือที่เฟดจะขื้นอัตราดอกเบี้ยแล้วหรือยัง

ในช่วง Taper Tantrum ประเทศไทยได้รับผลกระทบเฉกเช่นประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม EM โดยเกิดกระแสเงินไหลออกจากตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ไทยรวมเกือบ 1.5 แสนล้านบาทตั้งแต่พฤษภาคม-สิงหาคม 2013 เนื่องมาจากปัญหาขาดดุลงบประมาณและขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ของเราเอง หรือที่เรียกว่า Twin Deficit (ซึ่งเป็นข้อมูลที่นักลงทุนนิยมใช้บ่งชี้ระดับความเสี่ยงจากการพึ่งพาเงินทุนต่างประเทศของกลุ่มประเทศ EM) ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น จนตัดสินใจเทขายเงินลงทุนเพื่อถอยออกจากตลาดทุนไทย

อย่างไรก็ตาม พื้นฐานการเงินการคลังของประเทศไทยในปัจจุบันยังเป็นไปในด้านบวก โดยเฉพาะดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลไตรมาสละ 8 พันล้านดอลลาร์ในตลอด 2 ไตรมาสหลังสุด คิดเป็น 3.5% ของจีดีพี ในขณะที่ช่วง Taper Tantrum เราขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 5.1% เลยทีเดียว และในวันนี้เรายังมีหนี้สาธารณะที่ไม่ถึง 50% ของจีดีพี โดยเป็นเงินกู้ยืมระยะยาวในสกุลเงินบาทเป็นส่วนใหญ่ และเรายังมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 1.5-1.6 แสนล้านดอลลาร์ จึงกล่าวได้ว่าพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยในช่วงนี้มีศักยภาพที่จะรับมือกับความผันผวนของกระแสเงินทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ นอกจากนี้ สัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ก็ค่อนข้างต่ำหากเทียบกับช่วงเกิด Taper Tantrum และยังต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอีกด้วย ผลกระทบจากเงินทุนไหลออกจึงจะไม่มากนัก อย่างน้อยก็ไม่มากเท่าเพื่อนบ้าน

ดังนั้น แม้การจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED ในอนาคตอาจทำให้เงินทุนไหลออกจากประเทศบ้างตามการปรับสัดส่วนการลงทุนโดยธรรมชาติ แต่จะไม่ไหลออกอย่างรุนแรงเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วง Taper Tantrum เนื่องจาก

1) ตลาดรับรู้ข่าวสารไปแล้วในระดับหนึ่ง แตกต่างจากช่วง Taper Tantrum ที่เกินความคาดหมายของตลาด

2) มีสัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติค่อนข้างต่ำ

และ 3) พื้นฐานเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น