โดยจันทร์เพ็ญ กิตติเวทย์วิทยา
Research กองทุนบัวหลวง
ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่ภาครัฐให้ความสำคัญมายาวนาน และหวังว่าจะเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาแม้จะเกิดเหตุไม่สงบทางการเมืองจนกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ปริมาณนักท่องเที่ยวจากต่างแดนยังคงไหลบ่าเข้าประเทศอย่างต่อเนื่องไม่มีแนวโน้มว่าจะเหือดหายเลย จนทำให้กรุงเทพมหานครติดอันดับเป็น 1 ใน 10 เมืองท่องเที่ยวแห่งโลก ทั้งจาก “world’s Best City Award” โดย Travel & Leisure magazine และ MasterCard Global Destination Cities
ไตรมาสแรกของปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยมีราว 7.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 23% การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงคาดว่าตลอดทั้งปี 2015 จะมีนักท่องเที่ยวรวม 28.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มี 24.77 ล้านคน ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะชาวจีน
ในวันนี้มวลมหาชนจากจีนแผ่นดินใหญ่ได้กลายเป็นนักเดินทางท่องเที่ยวอันดับ 1 ของโลกไปแล้ว และแต่ละปีจะมีคนกว่า 100 ล้านคนออกเดินทางท่องเที่ยวนอกสาธารณรัฐประชาชนจีน (เป็นเพียง 10% ของพลเมืองจีน) โดยเป้าหมายปลายทางยอดนิยมยังคงอยู่ในภูมิภาคเอเชียเสียเป็นส่วนใหญ่ ชาวจีนกลุ่มนี้ใช้จ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยวตกปีละ 129,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่า 30% ของจีดีพีประเทศไทย สินค้าแบรนด์เนมเป็นเป้าหมายหลักของกิจกรรมจับจ่ายที่พวกเขาชื่นชอบ เพราะความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้า และยังแสดงให้เห็นถึงรสนิยมของผู้ใช้อีกด้วย
ปัจจัยหนุนตลาดการท่องเที่ยวให้ “บูม” ต่อเนื่อง
UNWTO (United Nations World Tourism Organization) เปิดเผยว่า ในปี 2014 ทั่วโลกมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเกินกว่า 1.1 พันล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 4.7% และยังประเมินว่าภายในปี 2035 คนกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว กลายเป็นกว่า 2 พันล้านคน โดยมีปัจจัยต่างๆ ช่วยหนุนส่ง ดังต่อไปนี้
- Rising Middle Class ปัจจุบันมีชนชั้นกลางกว่า 2 พันล้านคน (1 ใน 3 ของประชากรโลก) ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในจีนและอินเดีย (ประเทศที่มีพลเมืองเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก) ขณะที่ OECD คาดการณ์ว่าในปี 2030 ชนชั้นกลางจะขยายเพิ่มเป็นกว่า 5 พันล้านคน หมายความว่ากลุ่มคนผู้มีกำลังซื้อจะเติบโตขึ้นอีกมาก พวกเขาพร้อมจะจับจ่ายใช้สอย ซื้อสินค้าและบริการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเอง ซึ่งรวมถึงกิจกรรมนันทนาการอย่างเช่นการท่องเที่ยวด้วย
- Low Cost Airline ธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำหรือสายการบินราคาประหยัดที่เติบโตอย่างต่อเนื่องช่วยสนับสนุนให้เดินทางท่องเที่ยวกันมากขึ้น เนื่องจากช่วยย่นเวลาการเดินทางด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่แพงเกินไปนัก และยังสะดวกสบาย อีกทั้งเส้นทางการบินใหม่ๆ ยังทำให้เข้าถึงเมืองท่องเที่ยวต่างๆ ในแต่ละประเทศได้โดยตรง
- Internet of Things สื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลต่อชีวิตของคนในสังคมปัจจุบันอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการติดต่อสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, Twitter หรือ Pinterest เป็นต้น ในแต่ละวันมีรูปถ่ายกว่า 1.8 พันล้านรูปที่ถูก Load และ Share แบบเรียลไทม์ ไม่ว่ารูปถ่ายสินค้า อาหาร กิจกรรมต่างๆ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยว นับว่าเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความอยากที่จะออกเดินทางที่ดียิ่ง นอกจากนี้ ยุคสมัย Internet of Things ทำให้การเชื่อมต่อทางธุรกิจเป็นไปอย่างง่ายดาย เช่น การจองที่พักแบบ Online ผ่านเอเยนซีต่างๆ ที่รวบรวมที่พักหลากหลายแห่งเข้าไว้ด้วยกัน หรือโรงแรมบางแห่งสร้าง Application ของตัวเอง เช่น Hilton Honors app เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า สามารถเลือกจองห้องพักและ Check-in/out ผ่านสมาร์ทโฟนได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
- MICE การเดินทางท่องเที่ยวแบบ Bleisure หรือ “เที่ยวด้วย งานด้วย” มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากความเติบโตของธุรกิจ MICE (Meetings, Incentives, Conferences, and Exhibitions) จนเกิดการท่องเที่ยวพักผ่อนตามมา
- Retirement Tourism ปัจจุบันผู้สูงอายุจำนวนมากเลือกใช้เวลาว่างด้วยการท่องเที่ยวพักผ่อนในต่างแดน และด้วยแนวโน้มประชากรผู้สูงอายุ (อายุเกิน 65 ปี) ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 600 ล้านคนในปี 2015 เป็น 1 พันล้านคนในปี 2030 ทำให้มูลค่าตลาดการท่องเที่ยวสำหรับคนกลุ่มนี้เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่มักจะเลือกพักผ่อนแบบ “ลองสเตย์” ซึ่งใช้เวลายาวนานหลายวัน จนถึงเป็นเดือนๆ ค่าใช้จ่ายถัวเฉลี่ยต่อการท่องเที่ยวพักผ่อนต่อ 1 สัปดาห์ สำหรับ 2 คน จะตกประมาณ 5 พันเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
- Medical Tourism การท่องเที่ยวแนวนี้มีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูงถึง 15-25% ต่อปี โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในตลาด medical tourism ที่นักท่องเที่ยวนานาชาติให้ความนิยมชมชอบ เนื่องจากเครดิตด้านการแพทย์และการบริการอันเป็นเลิศ ได้มาตรฐานเทียบเท่าสากล แต่กลับมีค่าใช้จ่ายไม่สูงจนเกินกำลังทรัพย์ (value for money)
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ชี้ชวนให้มั่นใจว่าธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวยังมีโอกาสเติบโตได้ในอนาคต โดยประเทศไทยถือว่ามีจุดแข็งมากมาย ตั้งแต่ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ พร้อมกับวัฒนธรรมอันน่าตื่นตาและดึงดูดใจ ด้วยเหตุนี้อาจไม่เกินจริงจนเกินไปที่จะบอกว่าการท่องเที่ยวคือหนึ่งในความสำเร็จทางธุรกิจของไทย ผู้ที่เล็งเห็นโอกาสบนเส้นทางสายนี้จำเป็นต้องพัฒนาปรับทิศทางและรูปแบบธุรกิจ เพื่อให้ตอบรับแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต