xs
xsm
sm
md
lg

รู้จักกับตลาดหุ้นอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โดย ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr.win@one-asset.com

สวัสดีครับ สัปดาห์นี้จะพานักลงทุนไปรู้จักกับตลาดหุ้นอาเซียนในแต่ละประเทศเพื่อต้อนรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปีนี้

โดยรวมตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนมีการก่อตั้งกันมาค่อนข้างยาวนานเฉลี่ยกว่า 50 ปี โดยมีบางตลาดหลักทรัพย์ อย่างเช่น ตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียที่มีการก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1912 และ 1977 ตามลำดับ ก่อนที่จะมีการพัฒนาระบบการซื้อขายกันมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ขณะที่บางตลาดหุ้นอย่างเช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทยมีการก่อตั้งถัดมาในช่วงที่ใกล้เคียงกันในปี 1930, 1962 และ 1999 ตามลำดับ ก่อนที่จะมีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินต์ ของเวียดนาม ในช่วงปี 2000 หลังเวียดนามเริ่มผลักดันประเทศเข้าสู่การค้าการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้น

ในด้านของมูลค่าขนาดตลาด (Market Capitalization) ของตลาดหลักทรัพย์ในแต่ละประเทศของกลุ่มอาเซียนส่วนใหญ่มักมีขนาดมูลค่าตลาดสอดคล้องไปกับระดับการเปิดเสรีด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศของประเทศนั้นๆ

โดยหากแบ่งกลุ่มของตลาดหลักทรัพย์ของกลุ่มอาเซียนตามขนาดมูลค่าตลาด สภาพคล่อง และผลิตภัณฑ์ที่เสนอขายในตลาดแล้วจะพบว่า แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีขนาดมูลค่าตลาด สภาพคล่อง และผลิตภัณฑ์ที่มีความกว้าง และลึกแล้วจะแบ่งได้เป็นตลาดหลักทรัพย์ของประเทศสิงคโปร์ (SGX) ไทย (SET) และมาเลเซีย (Bursa Malaysia) ซึ่งมีมูลค่าขนาดตลาดกว่า 755,414 / 460,900 และ 451,650 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ที่มีความจำกัดของตลาดมากกว่าโดยเปรียบเทียบ ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย (JKSE) ฟิลิปปินส์ (PSE) เวียดนาม (Hochiminh) มีขนาดมูลค่าตลาด 420,872 / 279,500 และ 50,078 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ ทำให้โดยรวมมูลค่าขนาดตลาดของทั้งกลุ่มอาเซียนมีขนาดรวมกันกว่า 2.41 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใหญ่กว่าตลาดหลักทรัพย์ของเกาหลีใต้ (Kospi) ที่มีขนาดมูลค่าที่ 1.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีขนาดมูลค่าเทียบเคียงได้กับตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น ของจีน และฮ่องกง ที่มีขนาดมูลค่า 2.28 และ 3.32 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งขนาดมูลค่าตลาดของตลาดหลักทรัพย์อาเซียนที่ใหญ่ขึ้นก็จะส่งผลให้การลงทุนในตลาดหุ้นในแต่ละประเทศของกลุ่มมีความน่าสนใจ และสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนทั้งในส่วนของนักลงทุนในกลุ่มอาเซียน และนอกกลุ่มอาเซียนให้เพิ่มขึ้นตาม ซึ่งทำให้มีโอกาสในการพัฒนาของตลาดหุ้นได้ต่อไป

ในส่วนของผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์อาเซียน (MXO) ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันปรับตัวลดลงเล็กน้อยที่ประมาณ -2.72% เนื่องจากความกังวลของปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ทั้งในเรื่องของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ แนวโน้มการชะลอตัวของการเติบโตของเศรษฐกิจจีน และความสามารถในการชำระหนี้ของกรีซ เป็นต้น

ขณะที่ปัจจัยในประเทศมาจากปัจจัยเฉพาะตัวในแต่ละประเทศ เช่น ความกังวลเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศที่อาจช้ากว่าคาด และตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าวมีการปรับตัวขึ้นค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีแรงขายทำกำไรออกไปบ้าง เช่น ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่ปรับลดลง -2.40%, -1.85% และ -1.04% ตามลำดับ

ขณะที่ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ และเวียดนามมีการปรับขึ้นกว่า 4.58% และ 4.10% ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสในการกระจายการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์กลุ่มอาเซียนเพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงลำพัง และเพื่อเป็นการสร้างโอกาสผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้แก่การลงทุนได้

โดยในสัปดาห์หน้า ผมจะมาเล่าถึงแนวโน้ม และความน่าสนใจ รวมถึงรายละเอียดของหุ้นแต่ละตัวที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในแต่ละประเทศครับ

•นักลงทุนสามารถสอบถามเพิ่มเติม และขอรับร่างหนังสือชี้ชวนได้ที่ฝ่ายบริการลูกค้าและสนับสนุนธุรกิจที่หมายเลข 0-2659-8888 ต่อ 1 ครับ

•“ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน”
กำลังโหลดความคิดเห็น