โดย ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr.win@one-asset.com
สวัสดีครับ แม้ว่าเศรษฐกิจจีนปี 58 จะส่งสัญญาณการชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมาหลังทางการจีนตั้งเป้าหมายในการปฏิรูปเศรษฐกิจและควบคุมปัญหาการก่อหนี้เสียในระบบเศรษฐกิจเพื่อให้มีการเติบโตที่ยั่งยืน แต่การลงทุนในตลาดหุ้นปีนี้กลับให้ทิศทางตรงกันข้าม โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันตลาดหุ้นจีน (H-Share) ได้ปรับตัวขึ้นแล้วกว่า 23% ขณะที่ตลาดหุ้นจีน (A-Share) ปรับตัวขึ้นกว่า 52%
สาเหตุหลักสำคัญที่ทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นจีนในปีนี้มีความน่าสนใจมาจาก 3 ปัจจัยหลักด้วยกัน โดยปัจจัยแรก ได้แก่ แนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งทางการจีนตั้งเป้าหมายในการสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมของจีนก้าวเข้าสู่ระดับโลกจากข้อดีของจีนที่มีต้นทุนแรงงานที่ต่ำทำให้มีความสามารถในการผลิตที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีต่างๆ ควบคู่กับการเร่งลงทุนด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งในและต่างประเทศผ่านโครงการ One Belt One Road (ในประเทศ) และ Silk Road (ระหว่างประเทศ) เพื่ออำนวยความสะดวกและขยายการขนส่งเพื่อผลักดันให้จีนเป็นแหล่งการค้าการลงทุนในระดับโลก ซึ่งเป็นแผนการลงทุนระยะยาวต่อเนื่อง และล่าสุดเมื่อต้นสัปดาห์นี้ทางการจีนได้มีการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับภาครัฐภายใต้มูลค่ากว่า 3.00 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จำนวนกว่า 1,043 โครงการ ซึ่งสะท้อนถึงความต่อเนื่องของการลงทุนของภาครัฐเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายและผลักดันให้ตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นกว่า 3% ในวันดังกล่าวเพื่อขานรับการลงทุน
ปัจจัยที่สอง การเปิดกว้างของกฎเกณฑ์การลงทุนในตลาดหุ้นจีน ซึ่งทางการจีนได้ร่วมมือกับทางการฮ่องกงเพื่อเชื่อมโยงตลาดหุ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาผ่านโครงการ Stock Connect ระหว่างตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้กับฮ่องกงซึ่งได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดีจากยอดการขอโควตาการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และยังมีแผนการเชื่อมโยงตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้กับเสิ่นเจิ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 58 เพิ่มเติม ขณะที่ล่าสุดทางการจีนยังได้มีการร่วมมือกับฮ่องกงเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
โดยการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ให้กองทุนรวมฮ่องกงสามารถเสนอขายกองทุนให้นักลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่ได้โดยซื้อขายผ่านตัวแทนขายในจีนแผ่นดินใหญ่เสมือนการซื้อขายกองทุนรวมของจีน โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 58 เป็นต้นไป หลังจากที่ทางการจีนอนุญาตให้กองทุนรวมจีนไปลงทุนในฮ่องกงได้เมื่อเดือน มี.ค. 58 ซึ่งการผ่อนคลายกฎเกณฑ์นี้เป็นการเพิ่มโอกาสให้ราคาหุ้นจีนประเภท H-Share มีมูลค่าและสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นได้จากเงินลงทุนที่ไหลเข้าตลาดหุ้น H-Share มากขึ้นจากข้อได้เปรียบของมูลค่าหุ้น H-Share ที่อยู่ในระดับต่ำกว่า A-Share ในปัจจุบัน (โดยปัจจุบันมูลค่าหุ้น H-Share ต่ำกว่า A-Share ประมาณ 22%) ซึ่งจะทำให้การซื้อขายทั้ง 2 ตลาดมีความคึกคักและสามารถขยายฐานการลงทุนให้มีความน่าสนใจมากขึ้นตามไปด้วยในระยะถัดไป
และปัจจัยสุดท้าย การผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางจีนผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การปรับลดอัตราส่วนกันสำรองทางกฎหมาย (RRR) และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาธนาคารกลางจีนได้ดำเนินการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา และมีการปรับลดอัตราส่วน RRR เป็นรอบที่ 3 ตั้งแต่มีการดำเนินนโยบายการเงิน โดยคาดว่าธนาคารกลางจีนจะยังมีโอกาสปรับลดอัตราส่วน RRR ลงได้อีก 3-4 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งตลาดคาดว่าการปรับลด RRR ลงแต่ละครั้งจะช่วยเพิ่มฐานเงินได้จำนวน 660 พันล้านหยวน
ทั้งนี้ ผมมองว่าปัจจัยสนับสนุนทั้ง 3 ปัจจัยซึ่งทำให้เกิดกิจกรรมการลงทุนและสภาพคล่องในระบบดังกล่าวจะสามารถเป็นไปอย่างต่อเนื่องอีกช่วงเวลาหนึ่ง และสนับสนุนตลาดหุ้นจีนให้มีความน่าสนใจได้ต่อไป ทำให้ตลาดหุ้นจีนเป็นหนึ่งทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยยังไม่ค่อยเอื้ออำนวยนัก ในช่วงระยะสั้นนี้ยังคงปรับตัวเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ และปริมาณการซื้อขายที่เบาบางเนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามากระตุ้นตลาดและยังต้องเผชิญกับแรงกดดันของตัวเลขเศรษฐกิจที่ดูเหมือนยังชะลอลง ซึ่งอาจทำให้สถาบันบางแห่งมีการปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ลง
หากนักลงทุนสนใจการลงทุนในตลาดหุ้นจีน ทาง บลจ.วรรณอาจพิจารณาลงทุนในกองทุนเปิด วรรณ ไชน่า ออโต้ รีเด็มชั่น ฟันด์ (ONE-CHINA) ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Hang Seng H-Share Index ETF ซึ่งเป็นกองทุนรวม ETF ที่เน้นสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี Hang Seng China Enterprises Index (H-Share) ซึ่งนักลงทุนสามารถสอบถามเพิ่มเติมและขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่ฝ่ายบริการลูกค้าและสนับสนุนธุรกิจที่หมายเลข 0-2659-8888 ต่อ 1 ครับ
•ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน