โบรกเกอร์อินชัวรันส์ชี้ภาพรวมธุรกิจประกันโต 7-8% ตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยหมื่นล้าน ระบุเศรษฐกิจผันผวน พิษหนี้ครัวเรือนสะสมทำยอดไม่วิ่งตามเป้า เน้นปรับกรมธรรม์คุ้มค่า และมีราคาที่เหมาะกับคนต่างจังหวัดมากขึ้น พร้อมโชว์เบี้ยปี 57 ที่ 9 พันล้านบาท ส่วนช่องทางขายปีนี้รุกระบบพบลูกค้าโดยตรง และตลาดช่องทางดิจิตอลมากขึ้น
นายอัญชลิน พรรณนิภา ประธานบริษัททีคิวเอ็ม อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจประกันภัยในปีนี้น่าจะเติบโตได้ประมาณ 7-8% ซึ่งในส่วนของบริษัทเองได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตไว้ที่ระดับ 11% หรือคิดเป็นยอดขายประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยหลังจากนี้บริษัทจะเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้คุ้มค่าและเหมาะกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาบริษัทมองว่าธุรกิจประกันภัยยังได้รับผลกระทบจากหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้การเติบโตยังไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมีการปรับตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของบริษัทซึ่งมีสัดส่วนของลูกค้ารายย่อยในต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก
“ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจะเป็นระดับล่าง ส่วนระดับบนคงไม่มีปัญหา ซึ่งลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่เป็นรายย่อยในต่างจังหวัดกว่า 60% และอีกกว่า 30% อยู่ในกรุงเทพฯ โดยหลังจากนี้เราคงต้องมีการปรับกรมธรรม์ให้มันคุ้มค่ามากขึ้น ในขณะที่เบี้ยที่ขายในต่างจังหวัดก็จะต้องไม่สูงเกินไปด้วย เช่นถ้าเป็นรถยนต์คงจะเน้นเป็น 2 พลัส 3 พลัสที่น่าจะออกมาทำตลาดเพิ่ม และก็น่าจะมีความคุ้มครองที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย”นายอัญชลินกล่าว
นายอัญชลิน กล่าวอีกว่า การที่บริษัทเน้นการทำตลาดในต่างจังหวัด เนื่องจากเชื่อว่ากำลังซื้อของคนในต่างจังหวัดยังมีอยู่อีกมาก โดยเฉพาะตามหัวเมืองต่างๆ มีการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนาทุกอย่างเหมือนในกรุงเทพฯ ซึ่งถ้าดูจำนวนครัวเรือนในต่างจังหวัดจะพบว่ายังมีอยู่อีกหลายหลังคาเรือนที่ยังไม่มีการทำประกันภัย และตรงนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการขยายตลาดของบริษัท
โชว์ปี 57 เบี้ย 9 พันล้านบาท
นายอัญชลิน กล่าวอีกว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในปีที่ผ่านมาสามารถทำเบี้ยประกันภัยรับได้ 9,000 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นจากปี 56 ที่ 15% ประกอบด้วย เบี้ยจากการรับประกันภัยรถยนต์ 80% เบี้ยประกันภัยทั่วไป 12% และเบี้ยประกันชีวิต 8% ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่น่าพอใจถึงแม้ว่าจะต้องเผชิญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ในปี 2558 บริษัทมีความพยายามพัฒนาช่องทางการขายเพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทุกกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยช่องทางหลักยังเป็นช่องทางการขายผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งมีพนักงานอยู่ถึง 2,000 คน และหลังจากนี้จะมีการพัฒนาระบบการขายให้มีความรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาการขายแบบเฟซทูเฟซ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทได้พยายามพัฒนาทีมขายให้กระจายไปทั่วประเทศมากขึ้น หลังจากเดิมที่มีทีมขายลูกค้ากลุ่มองค์กรเพียง 200 คน แต่ปัจจุบันช่องทางนี้มีอยู่ถึง 89 สาขา และมีพนักงานขายถึง 700 คนทั่วประเทศ
ขณะที่ช่องทางสำคัญอีกช่องทางหนึ่งคือการขายผ่านสื่อดิจิตอล เพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป โดยได้พัฒนาช่องทางนี้ให้สามารถใช้งานได้บนแท็บเล็ต สมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงประกันภัยได้สะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีระบบ mPOS ที่จะช่วยสนับสนุนทีมขายให้สามารถรับชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตได้ทั่วประเทศ และรวดเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย