xs
xsm
sm
md
lg

Money Tips : การเติบโตของภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ในระยะยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดยปฐมินทร์ นาทีทอง
กลุ่มจัดการกองทุน

ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ครับว่าภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) เป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก จากนี้ผมขอเรียกสั้นๆ ว่าภูมิภาคเอเชียครับ โดยอัตราการเติบโของเศรษฐกิจโดยรวมของภูมิภาคเอเชียในปี 2014 อยู่ที่ประมาณ 6% และคาดว่าจะคงระดับประมาณนี้ไปอีกในอนาคต ขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาในปี 2014 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะอยู่ที่ประมาณ 2.2-2.5%

ขณะที่กลุ่มประเทศยุโรปเติบโตเพียง 1.2-1.6% เท่านั้น ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจเอเชียเติบโตในอัตราที่สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ จากการประเมินจะมีอยู่ 3 ปัจจัยหลัก และเป็นปัจจัยที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจเอเชียให้เติบโตต่อไปในอนาคตที่กำลังจะมาถึง นั่นคือ ปัจจัยด้านการบริโภค ปัจจัยด้านการออม และปัจจัยด้านการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ

ผมขอเริ่มที่ ปัจจัยด้านการบริโภค ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะมาจาก 1. อัตราส่วนประชากรในตัวเมืองที่เพิ่มขึ้น 2. จำนวนกลุ่มชนชั้นกลางที่กำลังจะเพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชีย

อัตราส่วนประชากรในตัวเมืองหรือ Urbanization Rate หมายถึงจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองต่อประชากรทั้งประเทศ โดยเฉลี่ยแล้วประเทศในแถบ South East Asia มีอัตราส่วนประชากรในตัวเมืองเพียง 45% ในขณะที่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ มีอัตราส่วนประชากรในตัวเมืองสูงถึง 78% (อ้างอิงจากฐานข้อมูล Central Intelligence Agency, CIA ในปี 2014) ซึ่งในระยะยาวอัตราส่วนประชากรในตัวเมืองของประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในทิศทางเดียวกับการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค

นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่ตัวเลขดังกล่าวจะใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยอัตราส่วนประชากรในตัวเมืองที่เพิ่มขึ้นมีนัยสำคัญต่อการกระตุ้นการบริโภค และ GDP เพราะโดยเฉลี่ยประชากรที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองจะมีรายได้ มีการจับจ่ายใช้สอย รวมถึงกำลังซื้อที่สูงกว่าประชากรที่อาศัยอยู่นอกเมือง

อีกเหตุผลหนึ่งคือ จำนวนกลุ่มชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นในเอเชีย เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากรชราภาพ ขณะที่ประชากรภูมิภาคอื่นๆ กำลังก้าวเข้าสู่ประชากรชราภาพ ประชากรส่วนใหญ่ของภูมิภาคเอเชียจะเริ่มเข้าสู่สังคมทำงาน ซึ่งเป็นช่วงอายุที่เริ่มสร้างฐานะและมีการใช้จ่ายประจำวันสูง

ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ในปี 2009 สัดส่วนจำนวนกลุ่มชนชั้นกลางของกลุ่มประเทศในเอเชียคิดเป็น 28% ของกลุ่มชนชั้นกลางทั่วโลก ทว่าในปี 2030 OECD (Organization for Economic Cooperation and Development) คาดว่าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็น 66% ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น

โดยส่วนแบ่งของการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคโดยกลุ่มชนชั้นกลางของกลุ่มประเทศเอเชียเมื่อเทียบกับการบริโภคของกลุ่มชนชั้นกลางทั่วโลกจะเพิ่มจาก 20% (ในปี 2009) เป็น 50% (ในปี 2030) และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอีกจนสูงถึง 70% (ในปี 2050) (อ้างอิงข้อมูลจาก Trak.in ในปี 2014) การเพิ่มขึ้นของการบริโภคดังกล่าวเมื่อเราพิจารณาควบคู่ไปกับจำนวนประชากรมหาศาลของกลุ่มประเทศในเอเชียที่ไม่รวมญี่ปุ่นที่มีมากถึง 58% ของประชากรโลกแล้ว เราจะเห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า เม็ดเงินจากการบริโภคจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเอเชียให้พัฒนาเติบโตไปได้อีกมาก

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มการบริโภคเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มทรัพยากรบุคคลจำนวนมหาศาลให้ภูมิภาคเอเชียอีกด้วย โดยประชากรส่วนใหญ่ที่กำลังเข้าสู่วัยทำงานจะเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจที่สำคัญ ในขณะที่ประชากรในภูมิภาคอื่นๆ ที่เริ่มเข้าสู่วัยชราจะมีความสามารถในการสร้างรายได้ให้ประเทศน้อยลง และจำเป็นต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากรัฐบาลมากขึ้น

นอกจากปัจจัยการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ภูมิภาคเอเชียมีสิ่งหนึ่งที่ภูมิภาคอื่นไม่มี นั่นก็คือ “วัฒนธรรมการออม” โดยประเทศหลักในเอเชียมีอัตราการออมโดยเฉลี่ยสูงที่สุดในโลกมากถึง 37% โดยเฉพาะในประเทศจีนที่สูงถึง 51% ในขณะที่สหรัฐฯ และยุโรปมีอัตราการออมเพียงประมาณ 20% เท่านั้น (อ้างอิงจากฐานข้อมูลของ World Bank ในปี 2014) แล้วปริมาณการออมที่สูงของภูมิภาคเอเชียนี้จะมาช่วยผลักดันเศรษฐกิจได้จริงๆ หรือไม่ นักเศรษฐศาสตร์ชี้แจงว่า การออมนั้นสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว

ยกตัวอย่างเช่น เงินออมที่ถูกนำไปฝากไว้ในบัญชีเงินฝากหรือลงทุนในตราสารหนี้ต่างๆ จะทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ มี Money Supply ที่สูงขึ้น ส่งผลให้ดอกเบี้ยต่ำลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการกู้เพื่อขยายธุรกิจโดยบริษัทเอกชนและการกู้เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานโดยรัฐบาล หรือถ้าเงินออมถูกนำไปลงทุนตราสารทุนก็จะเป็นการเพิ่มเงินทุนให้กับบริษัทเพื่อไปใช้ในการขยายธุรกิจและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

ปัจจัยสุดท้ายที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจเอเชียต่อไปในระยะยาวก็คือ การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ หรือ Structural Reform โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมา หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียได้เริ่มตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้าง เพื่อที่จะพัฒนาตนเองไปเทียบเท่ากับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ โดยประเทศที่วางแผนการปรับโครงสร้างอย่างเห็นได้ชัดก็เป็นใครไปไม่ได้นอกจากสองประเทศยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียอย่าง จีน และอินเดีย

การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจนั้นไม่มีแบบแผนวิธีการที่ตายตัว เพราะแต่ละประเทศต่างก็มีเอกลักษณ์มีโครงสร้างเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไป เช่น ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก โดยที่ระบบกลไกเศรษฐกิจถูกควบคุมจากรัฐเป็นหลัก ซึ่งรัฐบาลจีนเองได้เริ่มปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

โดยมีเป้าหมายที่จะให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน สำหรับนโยบายการปฏิรูปจีนนั้นมีมากมายหลายนโยบาย ซึ่งผมขอยกตัวอย่างแค่บางนโยบายเท่านั้น เช่นการผ่อนคลายนโยบายลูก 1 คน โดยรัฐบาลจะอนุญาตให้พ่อแม่มีลูกได้ 2 คนหากพ่อหรือแม่เป็นลูกคนเดียว โดยนโยบายนี้จะส่งเสริมการเพิ่มขึ้นของการบริโภคและแรงงานในอนาคตได้

นอกจากนี้ นโยบายการปฏิรูปทางการเงิน เช่น การอนุญาตให้ภาคเอกชนสามารถจัดตั้งสถาบันการเงินได้ ลดขั้นตอนต่างๆ ลง และลดการควบคุมราคาสินค้าสาธารณูปโภคบางประเภท จะส่งผลให้ภาคเอกชนสนใจลงทุนมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นให้กับกลไกตลาดของประเทศจีน

ส่วนประเทศอินเดีย ด้วยความที่มีจำนวนประชากรสูงมาก ประเทศกำลังประสบปัญหาอัตราว่างงานสูง และคุณภาพชีวิตประชากรตกต่ำ นายกรัฐมาตรีคนใหม่ นายนาเรนทรา โมดิ หรือ “โมดิโนมิก” ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องของนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ เช่น การลงทุนในโครงการยักษ์ใหญ่โดยรัฐบาล เช่น การลงทุนสร้างทางหลวงเชื่อมระหว่างเมือง ยาว 8,500 กม. การลงทุนเพื่อพัฒนาการจัดการน้ำ สาธารณสุข และการศึกษา โดยการลงทุนในสิ่งเหล่านี้จะช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ เพิ่มการจ้างงานและพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน

นอกจากนี้ ยังวางแผนที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีจากเดิมที่ซับซ้อน และเอื้อต่อการคอร์รัปชันเป็นระบบเดียวทั่วประเทศ (GST) เพื่อให้เข้าใจง่าย และลดปัญหาการคอร์รัปชันอีกด้วย จากข้อมูลที่ได้นำเสนอมาเบื้องต้น ท่านผู้อ่านคงเห็นว่าภูมิภาคเอเชียนั้นมีความสนใจต่อการลงทุนมากเพียงใด

กล่าวโดยสรุปแล้ว จากปัจจัยที่เป็นเอกลักษณ์ของภูมิภาคนี้ อย่างเช่นการบริโภคมหาศาล เม็ดเงินจากการออมที่จะถูกนำมากระตุ้นเศรษฐกิจ และการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งยักษ์ใหญ่ทั้ง 2 ของประเทศเอเชีย ผมคิดว่าคงจะดีไม่น้อยหากนักลงทุนไทยกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดหุ้นของประเทศใกล้ตัวที่มีคุณภาพอย่างกลุ่มประเทศเอเชีย


กำลังโหลดความคิดเห็น