xs
xsm
sm
md
lg

Money Tips : การเติบโตของภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ในระยะยาว (1)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดยปฐมินทร์ นาทีทอง
กลุ่มจัดการกองทุน
บลจ.บัวหลวง

ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ครับว่าภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) เป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก จากนี้ผมขอเรียกสั้นๆ ว่าภูมิภาคเอเชียครับ โดยอัตราการเติบโของเศรษฐกิจโดยรวมของภูมิภาคเอเชียในปี 2014 อยู่ที่ประมาณ 6% และคาดว่าจะคงระดับประมาณนี้ไปอีกในอนาคต ขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาในปี 2014  อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะอยู่ที่ประมาณ 2.2-2.5% 

ขณะที่กลุ่มประเทศยุโรปเติบโตเพียง 1.2-1.6% เท่านั้น  ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจเอเชียเติบโตในอัตราที่สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ จากการประเมินจะมีอยู่ 3 ปัจจัยหลัก และเป็นปัจจัยที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจเอเชียให้เติบโตต่อไปในอนาคตที่กำลังจะมาถึง นั่นคือ ปัจจัยด้านการบริโภค ปัจจัยด้านการออม และปัจจัยด้านการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ
    

ผมขอเริ่มที่ ปัจจัยด้านการบริโภคที่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะมาจาก 1. อัตราส่วนประชากรในตัวเมืองที่เพิ่มขึ้น   2. จำนวนกลุ่มชนชั้นกลางที่กำลังจะเพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชีย

อัตราส่วนประชากรในตัวเมืองหรือ Urbanization Rate หมายถึงจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองต่อประชากรทั้งประเทศ โดยเฉลี่ยแล้วประเทศในแถบ South East Asia มีอัตราส่วนประชากรในตัวเมืองเพียง 45% ในขณะที่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ มีอัตราส่วนประชากรในตัวเมืองสูงถึง 78% (อ้างอิงจากฐานข้อมูล Central Intelligence Agency, CIA ในปี 2014) ซึ่งในระยะยาวอัตราส่วนประชากรในตัวเมืองของประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในทิศทางเดียวกับการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค

นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่ตัวเลขดังกล่าวจะใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยอัตราส่วนประชากรในตัวเมืองที่เพิ่มขึ้นมีนัยสำคัญต่อการกระตุ้นการบริโภค และ GDP เพราะโดยเฉลี่ยประชากรที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองจะมีรายได้ มีการจับจ่ายใช้สอย รวมถึงกำลังซื้อที่สูงกว่าประชากรที่อาศัยอยู่นอกเมือง

อีกเหตุผลหนึ่งคือ จำนวนกลุ่มชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นในเอเชีย เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากรชราภาพ  ขณะที่ประชากรภูมิภาคอื่นๆ กำลังก้าวเข้าสู่ประชากรชราภาพ ประชากรส่วนใหญ่ของภูมิภาคเอเชียจะเริ่มเข้าสู่สังคมทำงาน ซึ่งเป็นช่วงอายุที่เริ่มสร้างฐานะและมีการใช้จ่ายประจำวันสูง

ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น  ในปี 2009 สัดส่วนจำนวนกลุ่มชนชั้นกลางของกลุ่มประเทศในเอเชียคิดเป็น 28% ของกลุ่มชนชั้นกลางทั่วโลก ทว่าในปี 2030 OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) คาดว่าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็น 66% ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น

โดยส่วนแบ่งของการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคโดยกลุ่มชนชั้นกลางของกลุ่มประเทศเอเชียเมื่อเทียบกับการบริโภคของกลุ่มชนชั้นกลางทั่วโลกจะเพิ่มจาก 20% (ในปี 2009) เป็น 50% (ในปี 2030) และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอีกจนสูงถึง 70% (ในปี 2050) (อ้างอิงข้อมูลจาก Trak.in ในปี 2014) การเพิ่มขึ้นของการบริโภคดังกล่าวเมื่อเราพิจารณาควบคู่ไปกับจำนวนประชากรมหาศาลของกลุ่มประเทศในเอเชียที่ไม่รวมญี่ปุ่นที่มีมากถึง 58% ของประชากรโลกแล้ว เราจะเห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า เม็ดเงินจากการบริโภคจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเอเชียให้พัฒนาเติบโตไปได้อีกมาก

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มการบริโภคเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มทรัพยากรบุคคลจำนวนมหาศาลให้ภูมิภาคเอเชียอีกด้วย โดยประชากรส่วนใหญ่ที่กำลังเข้าสู่วัยทำงานจะเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจที่สำคัญ ในขณะที่ประชากรในภูมิภาคอื่นๆ ที่เริ่มเข้าสู่วัยชราจะมีความสามารถในการสร้างรายได้ให้ประเทศน้อยลง และจำเป็นต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากรัฐบาลมากขึ้น  

นอกจากการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่าทวีปเอเชียมีสิ่งหนึ่งที่ภูมิภาคอื่นไม่มี นั่นก็คือ “วัฒนธรรมการออม”  ซึ่งจะขอยกไปไว้คราวหน้าครับ 


กำลังโหลดความคิดเห็น