สมาคมประกันวินาศภัยชงรัฐโยกงบรักษาพยาบาลข้าราชการทำประกันสุขภาพ มั่นใจคุมอยู่ไม่เกิน 6 หมื่นล้านบาท แถมเลือกสถานพยาบาลได้และมีการตรวจสอบที่ดีกว่า ระบุธุรกิจประกันวินาศภัยปีนี้โต 8% ทำเบี้ยทั้งระบบ 2.2 แสนล้านบาท
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า งบประมาณด้านการรักษาพยาบาลข้าราชการแต่ละปีปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีละ 4 หมื่นล้านบาท จนปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 6 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากรัฐบาลไม่มีเครือข่ายในการตรวจสอบการรักษาพยาบาลที่เข้มงวดทำให้งบประมาณการรักษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยควบคุมงบประมาณทางสมาคมฯ ได้มีความพยายามเดินหน้าผลักดันโมเดลการรักษาพยาบาลข้าราชการในปัจจุบันผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. และหน่วยงานเอกชนพิจารณารวมถึงกระทรวงการคลังเพื่อนำไปปรับใช้ต่อไป โดยคาดว่าอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปีเนื่องจากต้องทำความเข้าใจถึงรายละเอียดในการเข้าไปดูแลเรื่องสุขภาพข้าราชการแทน
“ทางสมาคมฯ มั่นใจในการบริหารจัดการงบประมาณด้านสุขภาพได้ภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องของสิทธิประโยชน์ที่ข้าราชการจะได้รับไม่น้อยกว่าที่ข้าราชการได้รับมา ผู้ที่เอาประกันสามารถเลือกโรงพยาบาลในการเข้ารักษาได้ด้วย ที่สำคัญงบประมาณค่ารักษานี้ไม่เพิ่มขึ้นบานปลายจากวงเงินในปัจจุบันที่ 6 หมื่นล้านบาทแน่นอน”
นายอานนท์ กล่าวว่า สมาคมฯ มั่นใจธุรกิจประกันวินาศภัยปีนี้เติบโต 2 เท่าของ GDP คาดโต 4% หรือเติบโตอยู่ที่ประมาณ 8% มีเบี้ยประกันภัยรวมทั้งสิ้น 221,667 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้า การบริโภคในครัวเรือน และการเติบโตของการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่อัตราการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัยปี 57 มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทั้งสิ้น 205,247 ล้านบาท มีอัตราการเติบโต 1.07% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนสาเหตุที่ทำให้เบี้ยรับรวมปีที่ผ่านมาไม่สูง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยปี 57 มีความผันผวนมาก จากปัจจัยทางการเมืองได้สร้างผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและประชาชนทั่วไป จากการคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง GDP ของปี 57 ขยายตัว 0.7% ซึ่งชะลอตัวลงจากปี 56
นายอานนท์ กล่าวอีกว่า ในปีนี้คาดว่าจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ธุรกิจประกันวินาศภัยจะมีการแข่งขันสูงและมีการกำกับดูแลที่เข้มงวดขึ้น ประกอบกับผู้เอาประกันภัยมีความรู้ในผลิตภัณฑ์ประกันภัย และรู้จักเลือกที่เหมาะกับตนเองทั้งด้านคุณภาพและราคา โดยการหาข้อมูลผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดียต่างๆ มีมากขึ้น
สอดคล้องกับการขยายตัวของช่องทางการจำหน่ายผ่านอินเทอร์เน็ต ที่มีอัตราการขยายตัวของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงสูงถึง 136% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้น ช่องทางการจำหน่ายผ่านอินเทอร์เน็ตจึงเป็นช่องทางที่ทุกบริษัทจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้น