xs
xsm
sm
md
lg

บลจ.เปิดขายกองตราสารหนี้ ลงทุนสั้นล็อกผลตอบแทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บลจ.เปิดขายกองทุนตราสารหนี้ ชูผลตอบแทนสูง มองอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำจากปัญหาเศรษฐกิจในยุโรป ขณะที่ประเทศไทยคาด กนง.อาจลดดอกเบี้ยลงอีก หลังตัวเลขเศรษฐกิจไทยขยายตัวระดับต่ำ

    
นายฉัตรพี ตันติเฉลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด  หรือ KSAM เปิดเผยว่า “บริษัทเปิดเสนอขายกองทุนเปิดกรุงศรีตราสารหนี้ต่างประเทศเอไอ 6M4 (KFFAI6M4) อายุประมาณ 6 เดือน มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ เช่น เงินฝากธนาคาร China Construction Bank  (สาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง) สัดส่วนการลงทุน 20%  เงินฝากธนาคาร Bank of China (สาธารณรัฐประชาชนจีน  สาขามาเก๊า) สัดส่วนการลงทุน 20%   ตราสารหนี้ EMTN ออกโดยธนาคาร Akbank T.A.S. (ตุรกี) สัดส่วนการลงทุน 20%   ตราสารหนี้ EMTN ออกโดยธนาคาร Isbank (ตุรกี) สัดส่วนการลงทุน 20%  และตราสารหนี้ EMTN ออกโดยธนาคาร Vakifbank (ตุรกี) สัดส่วนการลงทุน 20%  ทั้งนี้ กองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน โดยนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากการขายคืนหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติประมาณ 2.60% ต่อปี และหลังครบกำหนดอายุโครงการบริษัทจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติและสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนไปยังกองทุนเปิดกรุงศรีตราสารเงิน (KFCASH)   ซึ่งเป็นกองทุนรวมตลาดเงิน  เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนต่อไป”  
    
“กองทุนเปิดกรุงศรีตราสารหนี้ต่างประเทศเอไอ 6M4 (KFFAI6M4) เป็นทางเลือกสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ เหมาะกับนักลงทุนที่มิใช่รายย่อยและผู้ที่มีเงินลงทุนสูง  ที่ต้องการสร้างโอกาสรับผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก และต้องการล็อกผลตอบแทนโดยสามารถลงทุนได้เป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน”  
    
สำหรับภาวะตลาดตราสารหนี้โลกนั้น จากแถลงการณ์ของประธานเฟดแสดงให้เห็นถึงความเห็นเชิงบวกต่อภาวะเศรษฐกิจ โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นสู่เป้าหมายของเฟดที่ 2%  แต่อัตราดอกเบี้ยไม่น่าจะปรับขึ้นในการประชุมเดือน มี.ค. และ เม.ย. ทางด้านกรีซได้รับการขยายมาตรการช่วยเหลือทางการเงินออกไปอีก 4 เดือน  หลังจากที่รัฐมนตรีคลังของยูโรโซนให้ความเห็นชอบต่อแผนปฏิรูปของกรีซ ทั้งนี้ แผนปฏิรูปฉบับสมบูรณ์จะต้องได้รับความเห็นชอบจากทรอยก้าภายในสิ้นเดือน เม.ย. กรีซจึงจะได้รับเงินช่วยเหลือที่เหลืออีก 7.2 พันล้านยูโร ในส่วนของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาครัฐของสหรัฐฯ ลดลง 0.01-0.07% โดยที่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะยาวลดลงมากกว่าอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะสั้น
    
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือน ม.ค. บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ทั้งนี้ ธปท.ระบุว่า การลดดอกเบี้ยอาจไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ  ส่วนตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ  ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลง 0.00-0.10% และอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะยาวลดลงมากกว่าอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะสั้น” นายฉัตรพีกล่าว  

ด้าน บลจ.ฟินันซ่า เสนอขายกองทุนตราสารหนี้ 3 เดือน ชื่อกองทุนเปิดฟินันซ่าตราสารหนี้พลัสโรลโอเวอร์ 3เดือน3 (FAM FIPR3M3) โดยมีอัตราผลตอบแทนโดยประมาณ 2.50-2.55% ต่อปี เปิดเสนอขายระหว่างวันที่ 2-10 มี.ค. 2558 ซึ่งเป็นกองทุนที่โรลโอเวอร์มาจากการขายกองทุนก่อนหน้านี้ เป็นกองทุน Specific fund  ทั้งนี้ กองทุนมีการป้องกันความเสี่ยงด้านการแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน
    
โดยกองทุนเปิดฟินันซ่าตราสารหนี้พลัสโรลโอเวอร์ 3เดือน3 (FAM FIPR3M3) จะพิจารณาลงทุนในตราสารแห่งหนี้ ตราสารทางการเงินและ/หรือ เงินฝากของภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น เงินฝากธนาคารต่างประเทศสกุลเงิน USD, CNY, HKD, EUR, JPY กับธนาคาร BOC (Macau), Standard Chartered Bank (Hong Kong), ธนาคาร CIMB Niaga (Indonesia), ตั๋วเงินหรือเงินฝากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ, ตั๋วแลกเงิน บมจ. ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) (BBB), ตั๋วแลกเงิน บมจ. สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (BBB+), ตั๋วแลกเงิน บมจ. ราชธานีลิสซิ่ง (BBB+) หรือตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB ขึ้นไป, ตั๋วเงินคลัง หรือ พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น
    
โดยเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวในระดับต่ำ โดยล่าสุดตัวเลขการนำเข้าและส่งออกประจำเดือนมกราคมออกมาต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ หากเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อยังคงขยายตัวในระดับต่ำเช่นนี้ก็มีความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในระยะถัดไป ด้านปัจจัยภายนอกประเทศ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แม้ว่าธนาคารกลางต่างๆ จะมีการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วก็ตาม โดยล่าสุดธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PBOC) ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลง 0.25% ลงสู่ 5.35% และ 2.50% ตามลำดับ และธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเริ่มเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและเอกชนเดือนละ 60,000 ล้านยูโร ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 ถึงเดือนกันยายน 2559 อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีต่างๆ อาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งจึงจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน นอกจากนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP โลกปี 2558 และปี 2559 ลงมา ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยที่กดดันการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงในระดับต่ำและอัตราผลตอบแทนที่ดีจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
    


กำลังโหลดความคิดเห็น