เอเอฟพี/มาร์เกตวอชต์ - ราคาน้ำมันเมื่อวันอังคาร (3 ก.พ.) ขยับขึ้น 3 วันติด แตะระดับสูงสุดตั้งแต่ปลายปี 2014 จากความหวังอุปสงค์โลกฟื้นตัวและแนวโน้มหั่นกำลังผลิตเพื่อลดอุปทาน ส่วนวอลล์สตรีทยังพุ่งแรงและทองคำปิดลบ หลังความพยายามเจรจาหนี้กรีซมีทิศทางที่ดี
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด ของตลาดนิวยอร์ก งวดส่งมอบเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 3.48 ดอลลาร์ ปิดที่ 53.05 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม ส่วนเบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน เพิ่มขึ้น 3.16 ดอลลาร์ ปิดที่ 57.91 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม
สัญญานน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส ขยับขึ้นถึง 8.53 ดอลลาร์ หรือเกือบร้อยละ 20 นับตั้งเริ่มปิดบวกในวันศุกร์ (30 ม.ค.) จากสัญญาอุตสาหกรรมพลังงานกำลังปรับลดกิจกรรมการสำรวจ ขณะที่ข้อมูลของเบเกอร์ ฮิวจ์ เผยให้เห็นว่าในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 มกราคม เหล่าแท่นขุดเจาะที่กำลังปฏิบัติการขุดเจาะน้ำมันในอเมริกา มีจำนวนลดลง 128 แท่น เหลือ 1,937 แท่น น้อยลงอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่มีแท่นขุดเจาะปฏฺิบัติการอยู่จำนวน 2,393 แท่น
นอกจากนี้แล้ว การปรับลดการใช้จ่ายด้านการลงทุนของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่าง เชฟรอน โคโนโคฟิลลิปส์ บีพี และบีจี กรุ๊ป ก็บ่งชี้ว่าอุปทานอาจจะตึงตัวในอนาคต อย่างไรกตามนักวิเคราะห์บางส่วนเตือนว่าการฟื้นตัวของราคาน้ำมันครั้งนี้อาจจะไม่ยืนยาวนัก เพราะว่าอุปทานในตลาดยังเหนือกว่าอุปสงค์อยู่มาก
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อวันอังคาร (3 ก.พ.) พุ่งขึ้นกว่า 300 จุด จากราคาน้ำมันที่เริ่มฟื้นตัวและมุมมองทางบวกต่อการเจรจาผ่อนผันหนี้รอบใหม่ของกรีซ
ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 305.36 จุด (1.76 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 17,666.40 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 29.18 จุด (1.44 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,050.03 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 51.05 จุด (1.09 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,727.74 จุด
ความเคลื่อนไหวอันคึกคักของตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีขึ้นหลังรัฐบาลใหม่ฝ่ายซ้ายของกรีซยกเลิกข้อเรียกร้องที่จะให้ปรับลดหนี้มูลค่า 315,000 ล้านยูโรลง และเสนอที่จะยุติการเผชิญหน้ากับบรรดาเจ้าหนี้นานาชาติ โดยให้แลกเปลี่ยนหนี้เป็นพันธบัตรที่เชื่อมโยงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจแทน หนึ่งสัปดาห์หลังได้รับการเลือกตั้งมาจากจุดยืนต่อต้านการรัดเข็มขัด
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนยังสงสัยว่าตลาดจะสดใสไปได้นานแค่ไหน เนื่องจากมันยังคงถูกห้อมล้อมไปด้วยความกังวลต่อภาวะเงินฝืดในยูโรโซนและเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ
ส่วนราคาทองคำเมื่อวันอังคาร (3 ก.พ.) ปิดลบแรง หลังความต้องการถือครองสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำลดลง หลังกรีซมีท่าทีประนีประนอมมากยิ่งขึ้นต่อจุดยืนในการจ่ายหนี้คืนแก่เจ้าหน้านานาชาติหรือทรอยก้า ที่ประกอบไปด้วย สหภาพยุโรป (อียู) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์ ลดลง 16.60 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,260.30 ดอลลาร์ต่อออนซ์