เอเจนซีส์ - ราคาน้ำมันดิบชนิดเบรนท์ของตลาดลอนดอนเมื่อวันพุธ (7 ธ.ค.) ไหลรูดทะลุหลัก 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกนับแต่ปี 2009 เพียง 2 วันหลังจากสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบชนิดเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียตของตลาดนิวยอร์กได้หลุดกรอบไปก่อนแล้ว ทั้งนี้สืบเนื่องจากการที่โอเปกยืนกรานไม่ลดเพดานผลิต ขณะที่ซัปพลายล้นตลาด ดีมานด์อ่อนแอ และค่าเงินดอลลาร์ก็แข็ง ด้านนักวิเคราะห์เชื่อราคาน้ำมันขาลงจะคงอยู่ต่อไปอีกพักใหญ่ และอาจแตะระดับ 40 ดอลลาร์ในอีกไม่ช้าไม่นาน มีบ้างที่มองไกลว่า ปีนี้มีสิทธิ์หลุดโค้งถึงหลัก 20 ดอลลาร์
สัญญาซื้อขายน้ำมันดิบชนิดเบรนท์งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 5 ปีครึ่งตั้งแต่เปิดซื้อขายที่ลอนดอนเช้าวันพุธ (7) โดยอยู่ที่ราคา 49.81 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด ของตลาดนิวยอร์กนั้น ได้ตกทะลุ 50 ดอลลาร์ล่วงหน้าไปแล้วตั้งแต่วันจันทร์ (5) และในช่วงการซื้อขายของลอนดอนตอนเช้าวันพุธเคลื่อนไหวอยู่แถวๆ 47 ดอลลาร์ ต่ำสุดนับจากเดือนเมษายน 2009
ไมเคิล ฮิวสัน นักวิเคราะห์จากซีเอ็มซี มาร์เกตส์ ชี้ว่า ในสถานการณ์ที่องค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ไม่มีทีท่าจะขยับลดเพดานการผลิต ราคาน้ำมันก็มีโอกาสดิ่งต่อถึงระดับ 40 ดอลลาร์ในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้ โดยเฉพาะหากดีมานด์ยังไม่กระเตื้องขึ้นมา
ฮิวสันแจงว่า การเติบโตชะลอตัวและอุปสงค์ที่ลดลงทั้งในจีนและยุโรป มีแนวโน้มฉุดตลาดน้ำมันต่อ ขณะที่การแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจะเข้มข้นยิ่งขึ้น ส่งผลให้ราคาแกว่งอย่างรุนแรงในระยะกลาง แต่ทิศทางค่อนข้างแน่นอนว่า จะเป็นขาลง ยกเว้นโอเปกเปลี่ยนจุดยืน
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้คือในวันอังคาร (6) ราคาน้ำมันก็ทรุดตัวทำสถิติต่ำสุดในรอบหลายปีอยู่ก่อนแล้ว หลังจากซาอุดีอาระเบีย สมาชิกทรงอิทธิพลของโอเปกกล่าวว่า การเติบโตชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยลบต่อตลาดน้ำมันในขณะนี้ พร้อมยืนยันคงว่า โอเปกจะคงเพดานการผลิตอย่างเป็นทางการที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวันต่อไป
นอกจากนี้ หนึ่งวันก่อนหน้านั้นยังมีรายงานว่า ริยาดได้ลดราคาน้ำมันที่ส่งขายให้ยุโรปและอเมริกาเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด
นับจากเดือนมิถุนายนปีที่แล้วจนถึงขณะนี้ ราคาน้ำมันตกลงกว่า 50% เนื่องจากซัปพลายล้นตลาด เศรษฐกิจของพวกประเทศมหาอำนาจส่วนใหญ่ต่างชะลอตัว ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อดีมานด์พลังงาน
ราคาน้ำมันยิ่งทรุดหนักหลังจากโอเปกประกาศในเดือนพฤศจิกายนว่า จะไม่ลดกำลังผลิตเพื่อช่วยฟื้นเสถียรภาพราคาและผ่อนเพลาปัญหาผลผลิตล้นเกิน ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่า เบื้องหลังการตัดสินใจนี้คือ การแข่งขันกับคู่แข่งหน้าใหม่ที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่า โดยเฉพาะผู้ผลิตน้ำมันจากหินน้ำมันในอเมริกา
ธนาคารเอเอ็นแซด เผยแพร่รายงานเมื่อวันพุธว่า ราคาน้ำมันจะยังตกลงต่อเนื่องในระยะสั้น และบริษัทผลิตน้ำมันจากหินน้ำมันจะยังไม่ลดกำลังผลิตอย่างน้อยจนถึงกลางปีนี้
ทางด้าน โนบูยูกิ นากาฮาระ อดีตผู้บริหารบริษัทน้ำมันและอดีตสมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะดิ่งต่อไปอีกเนื่องจากการเติบโตชะลอตัวในจีน และไม่น่าแปลกใจเลย หากราคาวูบลงถึงระดับ 20 ดอลลาร์
ขณะเดียวกัน วาณิชธนกิจ เอเวอร์คอร์ ไอเอสระบุว่า ราคาน้ำมันขาลงจะบีบให้บริษัทน้ำมันลดการใช้จ่ายด้านการสำรวจและผลิตทั่วโลก 10-15% ในปีนี้ และ 25-30% เฉพาะในอเมริกาเหนือ
รายงานของเอเวอร์คอร์ ไอเอส จากการสำรวจความคิดเห็นบริษัทน้ำมันและก๊าซ 300 แห่งทั่วโลกเกี่ยวกับแผนการใช้จ่ายประจำปี 2015 ยังระบุว่า อุตสาหกรรมน้ำมันมีกระแสเงินสดต่ำ ซ้ำขาดแคลนช่องทางเข้าถึงเงินทุน จึงจำเป็นต้องลดการใช้จ่าย โดยเฉพาะการขุดเจาะในพื้นที่ที่มีต้นทุนสูง เช่น แถบอาร์กติก โครงการทรายน้ำมันในแคนาดา รวมถึงการผลิตจากหินน้ำมันในอเมริกา ซึ่งเอเวอร์คอร์แจงว่า หากราคาน้ำมันยืนระยะอยู่ที่ 60 ดอลลาร์หรือต่ำกว่านั้น อาจบีบให้บริษัทบางแห่งต้องยุติการผลิต
รายงานยังคาดว่า การใช้จ่ายเงินทุนของบริษัทน้ำมันในยุโรปจะลดลง 20% เนื่องจากการลดโครงการสำรวจในทะเลเหนือ และคาดว่าโครงการในเอเชียและละตินอเมริกาจะลดการใช้จ่ายลงมากกว่านี้
สำหรับการลงทุนในรัสเซียจะลดลงอย่างน้อย 10% เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันตกต่ำ และมาตรการลงโทษจากนานาชาติ ตรงข้ามกับในตะวันออกกลางและแอฟริกาที่คาดว่าจะลงทุนเพิ่ม 15% และ 6% ตามลำดับ