เอเจนซีส์ - ราคาน้ำมันดิบทั้งตลาดนิวยอร์กและลอนดอนชวนกันทำสถิติต่ำสุดรอบ 5 ปีครึ่งเมื่อวันจันทร์ (5 ม.ค.) จากความกังวลเกี่ยวกับซัปพลายล้นตลาด ขณะที่ดีมานด์ยังคงอ่อนตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกัน ผู้สันทัดกรณีชี้โอเปกอาจต้องใช้ความอดทนมากขึ้น หากต้องการเห็นบริษัทซึ่งผลิตน้ำมันจากหินน้ำมันในอเมริกาเหนือ ถูกสถานการณ์ราคาตกบีบให้ลดกำลังผลิต เนื่องจากบริษัทเหล่านั้นหลายแห่งตัดสินใจต่ออายุสัญญาประกันความเสี่ยงอย่างน้อยจนกระทั่งถึงสิ้นปีนี้
การตัดสินใจของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ในการคงเพดานการผลิตเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ฉุดราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกให้ดิ่งหนักกว่าเดิม ขณะที่การผลิตระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของรัสเซีย และการส่งออกของอิรักที่มีปริมาณมากที่สุดนับจากปี 1980 ก็ตอกย้ำความกังวลเกี่ยวกับภาวะซัปพลายล้นตลาด
ราคาน้ำมันดิบชนิดเบรนท์ ของลอนดอน และเวสต์ เทกซัส อินเตอร์มีเดียต (WTI) ของนิวยอร์ก ที่ใช้เป็นราคาอ้างอิง ขณะนี้ลดลงกว่าครึ่งจากช่วงที่ขึ้นสูงสุดกลางปีที่แล้ว
ช่วงเช้าวันจันทร์ของการซื้อขายแถบเอเชีย สัญญาซื้อขายน้ำมันดิบของนิวยอร์กลงมาอยู่ที่ราคา 51.40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ต่ำสุดนับจากเดือนพฤษภาคม 2009 ก่อนกระเตื้องขึ้นมาอยู่ที่ 51.60 ดอลลาร์ แต่ยังลดลงจากราคาปิดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (2) 1.09 ดอลลาร์
เช่นเดียวกัน สัญญาซื้อขายน้ำมันดิบชนิดเบรนท์งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 55.36 ดอลลาร์ ต่ำสุดนับจากเดือนพฤษภาคม 2009 ก่อนดีดกลับไปอยู่ที่ 55.51 ดอลลาร์ ลดลง 91 เซ็นต์จากราคาปิดในวันศุกร์
ต่อจากนั้นราคายังคงมีแนวโน้มลดลงมาอีก โดยในช่วงการซื้อขายที่ลอนดอนวันจันทร์ เวสต์ เทกซัส อินเตอร์มีเดียต ของนิวยอร์ก ลงมาแตะ 50.55 ดอลลาร์ ต่ำกว่าราคาปิดวันศุกร์ 2.14 ดอลลาร์ ส่วนเบรนท์ ก็รูดมาที่ 54.02 ดอลลาร์ ต่ำกว่าปิดวันศุกร์ 2.40 ดอลลสาร์ ก่อนจะขยับขึ้นไปได้บ้าง โดยอยู่ที่ราวๆ 54.50 ดอลลาร์ในช่วงบ่าย 14.20 น.ของลอนดอน (ตรงกับ 21.20 น.เวลาเมืองไทย)
ข้อมูลเศรษฐกิจที่จืดชืดของอเมริกาที่ออกมาปลายสัปดาห์ที่แล้ว กระตุ้นความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มความต้องการน้ำมัน
ยูซูเกะ เซตะ ผู้จัดการฝ่ายขายสินค้าโภคภัณฑ์ของนิวเอดจ์ เจแปน ชี้ว่า ความต้องการน้ำมันไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแข็งแกร่งในปีนี้ หากพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจของ จีน ญี่ปุ่น และยุโรป
การอ่อนตัวของสกุลเงินยูโรอาจฉุดราคาน้ำมันอีกแรง เนื่องจากทำให้กำลังซื้อของผู้ถือครองเงินยูโรลดลงเมื่อซื้อน้ำมันที่ซื้อขายด้วยสกุลดอลลาร์
เทรดเดอร์น้ำมันดิบผู้หนึ่งคาดว่า ภาวะซัปพลายล้นเกินและดีมานด์ชะลอตัวอาจดึงราคาเบรนท์อยู่ที่ 50-55 ดอลลาร์ระหว่างไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่ WTI มีโอกาสลดลงอีก 4 เหรียญ
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะซัปพลายล้นตลาดคือ น้ำมันที่ผลิตจากหินน้ำมันของอเมริกา ซึ่งเป็นชนวนเหตุทำให้โอเปกประกาศศึกยืนการผลิตเอาไว้ไม่ยอมลดส่วนแบ่งตลาดของตนลงมา
พวกสมาชิกแถวหน้าหลายประเทศของโอเปกกำลังนับวันรอให้สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ตกฮวบ บีบบังคับพวกบริษัทผลิตจากหินน้ำมันเหล่านี้ ซึ่งมีต้นทุนแพงกว่าทางโอเปก ต้องยอมลดการผลิตลงมา จะได้ขาดทุนน้อยลง
เจ้าหน้าที่โอเปกเชื่อว่า เมื่อสัญญาประกันความเสี่ยงที่พวกบริษัทอเมริกันเหล่านี้ทำเอาไว้ ครบกำหนดความคุ้มครองจากผลกระทบของราคาน้ำมันดิบที่ร่วงลงกว่า 50% ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาแล้ว พวกเขาจะต้องลดการผลิตลง และนั่นก็จะดันราคาน้ำมันที่ขณะนี้กำลังทดสอบระดับ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ให้เริ่มไต่ขึ้น
ซูฮาอิล บิน โมฮัมหมัด อัล-มาซรูอี รัฐมนตรีพลังงานสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนที่แล้วว่า มีบริษัทอเมริกันหลายแห่งซื้อสัญญาประกันความเสี่ยงจนถึงปลายปีที่ผ่านมา ดังนั้น โอเปกจึงต้องรอจนถึงไตรมาสแรกของปีนี้เพื่อดูว่า จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
ความหวังดังกล่าวนี้ ส่วนใหญ่อิงกับรายงานรอบไตรมาสของบริษัทต่างๆ ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อหลายเดือนก่อนซึ่งมีการเปิดเผยการซื้อสัญญาประกันความเสี่ยงครั้งท้ายสุด อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าขณะที่ราคาน้ำมันไม่มีทีท่าขยับเขยื้อนขึ้น บางบริษัทจึงเริ่มซื้อสัญญาประกันความเสี่ยงรอบใหม่ที่จะช่วยคุ้มครองรายได้ของตนแม้ราคาน้ำมันตกลงกว่าเดิม รวมทั้งยังทำให้สามารถขุดเจาะน้ำมันต่อไปในปีนี้ได้นานกว่าที่คาดไว้
เอ็ด มอร์ส หัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาดโภคภัณฑ์ทั่วโลกของซิตี้กรุ๊ป หนึ่งในแบงก์อเมริกันรายใหญ่ที่สุดที่เกี่ยวข้องกับการรับประกันความเสี่ยงเตือนว่า โอเปกไม่ควรคาดหวังว่า การเติบโตของการผลิตน้ำมันจากหินน้ำมันในอเมริกาในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะได้รับผลกระทบอะไร ส่วนในช่วงครึ่งหลังของปี ผลกระทบก็จะถูกลดทอนลงอยู่ดีจากการที่หลายบริษัทยืดอายุสัญญาประกันความเสี่ยงออกไปแล้ว