ผ่านพ้นไปอย่างเรียบร้อยสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นศึกเลือกตั้งที่สูสีคู่คี่ที่สุดนับตั้งแต่สิ้นยุคเผด็จการซูฮาร์โต โดยเป็นการชิงชัยกันระหว่าง โจโค วิโดโด ผู้ว่าการกรุงจาการ์ตาซึ่งมีบุคลิกติดดินและเข้าถึงประชาชน กับ พล.ท.ปราโบโว สุเบียนโต นายทหารจากขั้วอำนาจเก่าซึ่งมีประวัติด่างพร้อยด้านสิทธิมนุษยชนเป็นชนักติดหลัง
วิโดโด วัย 53 ปี หรือที่ชาวอิเหนาเรียกติดปากกันว่า “โจโควี” เคยประกอบอาชีพส่งออกเฟอร์นิเจอร์ก่อนจะมาเป็นพ่อเมืองจาการ์ตา และถือเป็นผู้สมัครประธานาธิบดีคนแรกที่กระแสนิยมมาแรงทั้งที่ไม่มีประวัติเชื่อมโยงกับฝ่ายทหารมาก่อน นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า โจโควี น่าจะเป็นผู้นำแนวใหม่ที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยของอินโดนีเซียเข้มแข็งยิ่งขึ้น
อีกด้านหนึ่งคือ สุเบียนโต วัย 62 ปี ซึ่งเป็น “อดีตลูกเขย” ของนายพลซูฮาร์โต และยอมรับว่าตนเคย “สั่งอุ้ม” นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อช่วงก่อนที่รัฐบาลเผด็จการซูฮาร์โตจะล่มสลายลงในปี 1998 บุคลิกผู้นำที่แข็งแกร่งของ สุเบียนโต ทำให้เขาชนะใจพลเมืองอิเหนาได้ไม่น้อย ขณะที่นักวิจารณ์เตือนว่าการก้าวสู่อำนาจของ สุเบียนโต อาจจะทำให้อินโดนีเซียหวนกลับไปสู่ยุคเผด็จการอีกครั้งหนึ่ง
ทันทีที่หีบเลือกตั้งทั่วประเทศปิดลง ผู้สมัครทั้ง 2 ฝ่ายต่างรีบออกมาประกาศชัยชนะของฝ่ายตนโดยอ้างผลการนับคะแนนแบบเร็วๆ หรือ “ควิกเคานท์” จนประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน ซึ่งจะอำลาตำแหน่งในเดือนตุลาคมนี้ต้องออกโรงเตือนให้ผู้สนับสนุนทั้ง 2 ฝ่ายใช้ความอดกลั้นและหลีกเลี่ยงความรุนแรง ก่อนที่ผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจะประกาศในอีกราวๆ 2 สัปดาห์ข้างหน้า
แต่ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายชนะ นักวิเคราะห์ก็เตือนแล้วว่าประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซียไม่มีเวลาที่จะหลงระเริง แต่ต้องเตรียมตัวรับมือปัญหาหนักหน่วงหลายด้าน ตั้งแต่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตัดเงินอุดหนุนเชื้อเพลิง ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน เรื่อยไปจนถึงการปรับปรุงฟื้นฟูสาธารณูปโภค และการกระจายรายได้สู่คนยากจน
เหนือสิ่งอื่นใด ผู้นำแดนอิเหนาจะต้องชะลอกระแสชาตินิยมทางเศรษฐกิจที่กำลังบั่นทอนความน่าลงทุนของอินโดนีเซีย และสรรหากลยุทธ์เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะเปราะบาง
วิโดโด ซึ่งโพลหลายสำนักระบุตรงกันว่าจะเป็นผู้ชนะ ถือเป็นตัวเลือกที่นักลงทุนชื่นชอบ เขามีประวัติที่ขาวสะอาดเมื่อเทียบกับนักการเมืองอิเหนาโดยทั่วไป และถูกคาดหวังว่าจะเป็นผู้นำนักปฏิรูป แม้ในช่วงหาเสียงจะใช้ถ้อยคำออกไปในทางชาตินิยมจัดจนสร้างความลำบากใจแก่นักลงทุนไปบ้างก็ตาม ขณะที่ สุเบียนโต นั้นมีภูมิหลังผูกพันอยู่กับยุคเผด็จการทหาร และมักแสดงแนวคิดต่อต้านต่างชาติจนเป็นที่หวั่นใจของตลาด
“ประธานาธิบดีคนใหม่จะต้องเข้ามารับช่วงปัญหาใหญ่ๆ หลายด้าน และต้องเริ่มงานทันทีตั้งแต่วันแรก” ลาตีฟ อาดัม นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลจาการ์ตา ระบุ
หากดูเผินๆ เศรษฐกิจอินโดนีเซียดูเหมือนจะไปได้สวย มีอัตราการขยายตัวราว 6% ตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาคการส่งออกเข้มแข็ง และมีอัตราการบริโภคภายในประเทศสูงขึ้นตามจำนวนชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
อินโดนีเซียยังผ่านพ้นวิกฤตความผันผวนในตลาดเกิดใหม่เมื่อปีที่แล้ว ที่เป็นผลมาจากกระแสความกลัวว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยกเลิกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงประมาณ (QE) ซึ่งจะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องประสบภาวะเงินทุนต่างชาติไหลออก กระแสตื่นกลัวเหล่านี้ได้กระตุ้นให้จาการ์ตาเผยแนวทางปฏิรูปที่จำเป็นออกมาหลายด้าน
อย่างไรก็ดี การขยายตัวของสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มที่จะชะลอลง ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของอินโดนีเซียในช่วงต้นปีนี้เติบโตช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา ส่วนแผนปฏิรูปต่างๆ ก็ดูเหมือนจะแผ่วลงหลังจากภาวะล้มละลายด้านการลงทุนไม่ได้รุนแรงอย่างที่คาด
นักวิเคราะห์ชี้ว่า รัฐบาลอิเหนาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสวงหาแนวทางใหม่เพื่อทำให้เศรษฐกิจกลับมาเข้าที่เข้าทางเหมือนก่อน ประการแรกสุดก็คือการเลิกอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลอินโดนีเซียต้องสูญเสียงบประมาณถึงร้อยละ 20 เพื่อให้ชาวเมืองอิเหนาได้ซื้อน้ำมันราคาถูกเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย
ตลอดช่วง 10 ปีที่ครองอำนาจ แม้รัฐบาลยุทโธโยโนจะตัดลดงบประมาณหลายภาคส่วน แต่กลับไม่สามารถดำเนินการปฏิรูปชนิดถึงรากถึงโคนได้
“ประธานาธิบดีคนใหม่จะมีงบประมาณที่ค่อนข้างจำกัดสำหรับแต่ละกระทรวงและหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากเม็ดเงินส่วนใหญ่ต้องนำไปอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง” เดวิด ซูมวล นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากธนาคารเซ็นทรัลเอเชีย (Bank Central Asia) ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี
วิโดโด นั้นประกาศจะเลิกอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงโดยสิ้นเชิง ขณะที่ สุเบียนโต ก็รับปากว่าจะลดทอนนโยบายดังกล่าวลงจากระดับที่เป็นอยู่ ทว่าการตัดเงินอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงอย่างฮวบฮาบจะกระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ และสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนนับล้านที่มีฐานะยากจน ซึ่งก็เป็นฐานเสียงที่ผู้สมัครทั้ง 2 รายให้สัญญาไว้ว่าจะช่วยเหลือนั่นเอง
การปรับปรุงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานถือเป็นหัวใจสำคัญซึ่งจะช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามายังอินโดนีเซีย เพราะทุกวันนี้ปัญหาถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ท่าเรือและสนามบินที่เก่าแก่ รางรถไฟสนิมเกรอะกรังที่เชื่อมระหว่างหมู่เกาะกว่า 17,000 เกาะของแดนอิเหนา ตลอดจนระบบขนส่งสาธารณะตามเมืองใหญ่ๆที่ไม่เพียงพอ ล้วนแต่สร้างความเหนื่อยหน่ายต่อนักธุรกิจทั้งในประเทศและต่างชาติ
ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประเมินว่า โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอบั่นทอนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียถึงปีละ 1% ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้
การทุจริตก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาเรื้อรังซึ่งผลักไสนักลงทุนต่างชาติ และทำให้ปีที่แล้วอินโดนีเซียได้คะแนนความโปร่งใสอยู่ในลำดับที่ 114 จากทั้งหมด 177 ประเทศทั่วโลก ตามดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันซึ่งจัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International)
ผู้นำคนใหม่ของอินโดนีเซียยังมีภารกิจสำคัญที่จะต้องหาจุดสมดุลระหว่างการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติกับการตอบสนองข้อเรียกร้องของอุตสาหกรรมในประเทศที่ต้องการให้รัฐใช้นโยบายปกป้องมากยิ่งขึ้น เช่นกรณีเมื่อเร็วๆ นี้ที่มีการออกฎหมายห้ามส่งออกแร่ดิบ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อบริษัทเหมืองต่างชาติอย่างมาก
บรรยากาศการลงทุนที่ไม่เอื้ออำนวยทำให้บริษัทต่างชาติหลายแห่งตัดสินใจไม่เปิดสาขาในอินโดนีเซีย หนึ่งในนั้นก็คือ แบล็กเบอร์รี ซึ่งปฏิเสธที่จะใช้อินโดนีเซียเป็นฐานการผลิต และหันไปเลือกมาเลเซียซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียบพร้อมและมีข้อจำกัดด้านกฎหมายน้อยกว่าแทน
“ประธานาธิบดีคนใหม่ไม่มีเวลาฮันนีมูนอย่างแน่นอน” อาดัม จากจากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งอินโดนีเซีย กล่าวเตือน