xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจประกันล็อกเป้าเพื่อนบ้าน เปิด”AEC”มีทั้งรุกและรับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พูดกันติดปากเรื่องของ AEC หรือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่จะเริ่มอย่างเป็นทางการในปี 2558และเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งในส่วนของกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ออกมารองรับ และการปรับตัวของแต่ละประเทศโดยเฉพาะประเทศไทย

ในปีหน้าทั้ง 10 ประเทศประกอบด้วย ไทย ลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา สิงค์โปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลลิปปินส์ และบรูไน ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ 580 ล้านคนจะต้องเริ่มเข้าสู่กระบวนการตามข้อตกลงในการเปิดเสรีอาเซียนได้แก่

1.เป็นตลาดและฐานการผลิตรวมกัน ทั้งเรื่องการโยกย้ายแรงงานอย่างเสรี และการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีมากขึ้น(ขยายความร่วมมือตามข้อตกลง แต่อาจไม่เปิดเสรีในทันที) เป็นต้น

2.สร้างเสริมโนยบายขีดความสามารถในการแข่งขึ้น เช่น นโยบายภาษี นโยบายการแข่งขัน
    
3.การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค หรือการลดช่องว่างของประเทศสมาชิกอาเซียน และการส่งเสริมSME
    
4.การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจ ปรับประสานนโยบายเศรษฐกิจ และการจัดทำ FTA กับประเทศนอกภูมิภาค
    
ทั้งหมดเป็นรายละเอียดคร่าวๆ ของการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยธุรกิจประกันภัยประกันชีวิต เป็นอีกส่วนที่จะต้องทำแผนงานและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับในเรื่องดังกล่าว
    
เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ประเวช องอาจสิทธิกุล กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การเตรียมความพร้อมของธุรกิจประกันฯ ในประเทศไทยมีมาอย่างต่อเนื่องแบ่งเป็นกลยุทธ์ในเชิงรุกและเชิงรับ โดยเชิกรุกนั้นจะเป็นการเตรียมความพร้อมในตลาดเพื่อนบ้าน ซึ่งจะต้องให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ ของแต่ละประเทศ รวมถึงภาษา และการอำนวยความสะดวกด้านเอกสารที่จะต้องเป็นระบบสากลมากขึ้น
    
ในส่วนของเชิงรับ คปภ.ได้มีความพยายามเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศโดยการเพิ่มความแข่งแกร่งด้านทุนจดทะเบียน รวมถึงความมั่นคงของเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงเฟส 2 ที่ปรับเพิ่มเป็น 140% จากเดม 125% เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    
“การเปิดเสรีเริ่มมีภาพให้เห็นจากเริ่มต้นคือการขนส่ง และการซื้อประกันชีวิตของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหลังจากนี้ ทางคณะกรรมการกำกับของแต่ละประเทศจะมีการพูดคุยรายละเอียดเพิ่มเติมอีก ส่วนที่เราต้องดูคือเรื่องของภาษา ซึ่งกรมธรรม์อาจต้องเป็นภาษาอังกฤษและสากลมากขึ้นต้องลองปรับดูกัน”
    
การค้าชายขอบหนุนประกันภัย
    
ด้าน พนัส ธีรวณิชย์กุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเปิดเสรีอาเซียนในปีหน้าจะถือเป็นตลาดใหญ่ที่บริษัทจะทำการขยายในอนาคต ซึ่งเศรษฐกิจบริเวณชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านจะเพิ่มจำนวนการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนจำนวนมาก และจะส่งผลดีต่อธุรกิจประกันภัยต่อจากนี้
    
ทั้งนี้ หากดูตัวเลขมูลค่าการค้าของประเทศไทยที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านทางภาคเหนือ บริเวณอำเภอแม่สอด มีมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 57,000 ล้านบาท ขณะที่จังหวัดมุกดาหารติดกับประเทศลาวมีมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 61,470 ล้านบาท
    
ขณะที่อำเภออรัญประเทศติดกับประเทศกัมพูชาในปีนี้มีมูลค่าการซื้อขาย 53,688 ล้านบาท และจังหวัดตราดซึ่งมีมูลค่าการซื้อขาย 24,496 ล้านบาท ส่วนบริเวณภาคใต้อำเภอสะเดาติดกับประเทศมาเลเซียมีมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 564,400 ล้านบาท
    
“จะเห็นว่าการค้าบริเวณชายแดนปัจจุบันมหาศาลอยู่แล้ว หากเปิดAEC อีกเชื่อว่าจะเพิ่มมาขึ้นอีกเยอะ และน่าจะส่งผลดีต่อการขนส่งข้ามประเทศที่จะต้องมีการทำประกันในอนาคต”
    
นายพนัส กล่าวอีกว่า กลยุทธ์ของกรุงเทพประกันภัยหลังจากนี้คงต้องทำการขยายสาขาให้ครอบคลุมกับการขยายตัวของการค้าขายกับเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีสามขาแบบเต็มรูปแบบแล้ว 31 สาขา และจะเปิดเพิ่มในปีหน้าอีก 2 สาขา
    
สำหรับสาขาที่จะเปิดใหม่อยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 6 สาขาและจะเปิดเพิ่มที่สุรินทร์อีก 1 สาขารวมเป็น 7 สาขาในปีหน้า โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือถือเป็นประตูเชื่อมประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ ติดกับประเทศลาวตอนเหนือ และประเทศลาวตอนใต้ รวมถึงประเทศกัมพูชาตอนเหนือ
    
ภาคตะวันออกปัจจุบันมี 5 สาขาและจะเปิดเพิ่มอีก 1 สาขาที่จังหวัดจันทบุรี ขณะที่ภาคเหนือปัจจุบันมี 7 สาขา และเชื่อว่าน่าจะครอบคลุมการขยายงานเกือบทุกพื้นที่อยู่แล้ว ส่วนสาขาที่เหลือจะอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง
    
“การเปิดสาขาให้ครอบคลุมเราจะสามารถรองรับการขยายตัวได้มากขึ้น แต่ในส่วนของการเข้าไปทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน เราคงต้องตามไปกับแบงก์กรุงเทพ เพราะเค้ามีเป้าหมายชัดเจนว่าจะเข้าไปทำธุรกิจในปะเทศเพื่อนบ้าน และเราคงต้องติดตามไปด้วย”
    
ด้านนายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้ทำการศึกษาธุรกิจประกันชีวิตในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในส่วนของกฎเกณฑ์ที่แตกต่างและข้อบังคับต่างๆ ซึ่งบริษัทมีความสนใจทุกรูปแบบไม่ว่าจะะเป็นรูปแบบของการเป็นสำนักงานตัวแทน การร่วมทุนกับพันธมิตร หรือการเปิดสาขา โดยบริษัทฯ จะเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมายของผู้บริโภคหรือสภาพเศรษฐกิจ สำหรับโอกาสทางธุรกิจเพื่อก้าวสู่ AEC
    
โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต ถือว่าเป็นผู้ประกอบการประกันชีวิตเจ้าแรกของไทยที่ได้รับอนุญาตให้เปิดสำนักงานผู้แทน (Representative Office) ในเมียนมาร์  ซึ่งปัจจุบันในเมียนมาร์มีบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยอยู่แล้วประมาณ 13 บริษัทรวม Myanmar Insuranceโดยเป็นบริษัทผู้ประกอบการของท้องถิ่น และยังไม่สามารถอนุญาตให้กับบริษัทของต่างชาติ เข้ามาประกอบธุรกิจประกันภัยได้ โดยการเปิดสำนักงานผู้แทนครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนจะมีการเปิด AEC ในปี 2558 และยังนับเป็นการประชาสัมพันธ์การให้ประโยชน์ของการทำประกันชีวิตและสร้างความรู้จักกับเมืองไทยประกันชีวิตมากยิ่งขึ้นด้วย
    
สรุปแล้ว ธุรกิจประกันภัยปีหน้าถือว่ามีการเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่องทั้งเชิงรับและเชิงรุก ในเชิงรับคงเป็นนัยของการเตรียมความพร้อมของทุนที่แข็งแกรงเพื่อต่อสู้บริษัทข้ามชาติที่ใหญ่กว่าจะเข้ามาขยายกิจการ ส่วนในเชิงรุกเป็นเรื่องของการขยายตลาด
    
คงไม่ต้องบอกซ้ำว่าเป้าหมายที่บริษัทประกันปักธงไว้เป็นที่ใด เพราะช่วงที่ผ่านมามีการพูดถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่าง พม่า ลาว กัมพูชา มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศเหล่านี้การทำประกันภัยต่อประชากรยังต่ำอยู่มาก และเป็นตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงนั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น