xs
xsm
sm
md
lg

ภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนปี 2558

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์"รู้ทันการลงทุนกับ KAsset"

สหรัฐอเมริกา 
คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาน่าจะสามารถเติบโตได้กว่า 3.10% ในปีหน้า โดยตัวเลขเศรษฐกิจทั้งภาคการผลิต และภาคบริการ น่าจะปรับตัวดีขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจในภาพรวม รวมถึงการจ้างงานเองก็เชื่อว่าจะเติบโตได้ดี ขณะที่อัตราการว่างงานน่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงคือการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังสหรัฐอเมริกาหยุดมาตรการ QE ซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อการได้เปรียบในการแข่งขันของสหรัฐอเมริกา และอาจจะทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตได้ตามที่คาดไว้ รวมถึงการที่ระดับราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อที่คาดหมายไว้ที่ 2% และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต้องชะลอออกไปกว่าที่คาด แม้เศรษฐกิจจะเติบโตได้ดีก็ตาม

ในส่วนของตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา คาดว่าจะยังคงสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ยังต้องจับตามองคือ ระดับราคาหุ้นของสหรัฐอเมริกาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมีอัตราส่วน P/E ปัจจุบันขึ้นมาสูงที่ระดับ 16 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ 15 เท่า ดังนั้น แม้จะมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา แต่ระดับราคาที่สูง ณ ปัจจุบัน ทำให้โอกาสที่ราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในปีหน้าอาจจะเป็นไปอย่างจำกัด โดยประเด็นที่ต้องจับตามองคือการเติบโตของผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐอเมริกา ว่าจะสามารถเติบโตขึ้นได้ทันระดับราคาที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ 

 ยุโรป
 เศรษฐกิจยุโรปเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยคาดว่า GDP ปีนี้น่าจะเติบโตได้ประมาณ 0.80% และยืนเหนือ 1% เล็กน้อย ในปีหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งก็ยังอยู่ห่างจากเป้าหมายที่ 2% อย่างไรก็ดี ยังคงมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจยุโรปในระยะยาว โดยเฉพาะนโยบายของธนาคารกลางยุโรป ที่มีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการดำเนินมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ประเภทพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเติมนอกจากการเข้าซื้อสินทรัพย์ประเภท ABS ที่ดำเนินอยู่ ณ ปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยทำให้สภาพคล่องในตลาดยังคงมีอยู่ และกดดันอัตราดอกเบี้ยให้ยังคงอยู่ในระดับต่ำ

 โดยคาดว่าธนาคารกลางยุโรปน่าจะมีการขยายขนาดของงบดุลของตัวธนาคารให้ขึ้นไปได้ถึง 2.9 ล้านล้านยูโร (จากระดับปัจจุบันที่ 2.04 ล้านล้านยูโร) หรือคิดเป็นวงเงินการซื้อสินทรัพย์เพิ่มเกือบๆ 1 ล้านล้านยูโร อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศหลักๆ อาทิ เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง เนื่องจากหลายๆ ประเทศ อาทิ สเปน โปรตุเกส กรีซ จะมีการเลือกตั้งในปีหน้า และอาจจะทำให้นโยบายทางด้านเศรษฐกิจ รวมถึงแผนด้านงบประมาณการคลังของแต่ละประเทศเปลี่ยนแปลงไป

ในส่วนของตลาดหุ้น มีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้ากว่าที่คาดไว้ ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปียังคงติดลบอยู่เล็กน้อย อย่างไรก็ดี เชื่อว่าธนาคารกลางยุโรปจะยังคงมีมาตรการทางเศรษฐกิจ และนโยบายต่างๆ ออกมาเพิ่มเติมเพื่อทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ จึงน่าจะยังส่งผลดีต่อตลาดหุ้นยุโรปในระยะยาว และช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่ทั้งนี้ แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปจะยังไม่แข็งแกร่งนัก แต่บริษัทจดทะเบียนยุโรปกลับยังคงมีฐานะทางการเงินที่ค่อนข้างดี และมีการพึ่งพาหนี้เป็นส่วนน้อย ดังจะเห็นได้จากอัตราส่วนเงินสดสำรองที่อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่อัตราส่วนหนี้ต่อส่วนของเจ้าของเองก็ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยที่จะสนับสนุนการเติบโตของตลาดหุ้นต่อไป

ญี่ปุ่น
เศรษฐกิจญี่ปุ่นปีนี้อาจจะไม่สามารถเติบโตได้ตามที่คาดไว้ เนื่องจากผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีในเดือนเมษายน ส่งผลลบต่อการบริโภคมากกว่าที่คาดไว้ ขณะที่ผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งยังคงได้นายกรัฐมนตรี และพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ทำให้นโยบายการผ่อนคลายทางการเงินและการคลังน่าจะยังคงดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มรอบ 2 จาก 8% เป็น 10% น่าจะเลื่อนออกไปจากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2558 และทำให้ผลกระทบในเชิงลบน่าจะคลี่คลายลง นอกจากนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นเอง ก็มีนโยบายที่จะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น 70-80 ล้านล้านเยนต่อปี ซึ่งจะช่วยทำให้สภาพคล่องในตลาดการเงินโลกยังคงอยู่ในระดับสูง และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตามองคือผลจากการดำเนินมาตรการธนูดอกที่ 3 ที่ได้เริ่มดำเนินไปบ้างแล้ว ว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหรือไม่

ในส่วนของตลาดหุ้นญี่ปุ่น ตั้งแต่ต้นปี ปรับตัวขึ้นมาแล้วกว่า 6% โดยได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางญี่ปุ่น ที่ยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ซึ่งช่วยชดเชยการยุติของมาตรการ QE ของสหรัฐอเมริกา ขณะที่ ตลาดยังคงคาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะมีนโยบายออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมถึงการที่กองทุนบำนาญญี่ปุ่น ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วยขนาดมูลค่าสินทรัพย์กว่า 200 ล้านล้านเยน ได้มีการปรับเพิ่มเพดานการลงทุนในหุ้นจากเดิม 12% ขึ้นมาที่ระดับ 25% ซึ่งทำให้ตลาดมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการที่ค่าเงินเยนที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมปัจจัยบวกต่อบริษัทส่งออกของญี่ปุ่น 

จีน

แม้เศรษฐกิจจีนจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัวลงจากปีก่อนๆ แต่ก็ยังอยู่ในเป้าหมายของทางการจีนและจัดว่าอยู่ระดับที่สูงเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ที่ประมาณ 7-7.5% อย่างไรก็ดี ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญมีทั้งบวกและลบ จึงเชื่อว่าธนาคารกลางจีนจะมีการดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ หลังจากที่ได้มีการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกตั้งแต่ปี 2555 ในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงยังคงอยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทางการจีนได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด แม้มีความเสี่ยงจากยอดหนี้เสียในระบบธนาคารที่ยังอยู่ในระดับสูง แต่เชื่อว่าทางการจีนจะสามารถควบคุมความเสี่ยงนี้ได้

ในส่วนตลาดหุ้นจีนในปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้น A-Share และ H-Share ปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันจนกระทั่งไตรมาส 3 ที่ตลาดหุ้นจีน A-Share ปรับตัวขึ้นแรงมากกว่า 30% จากการเปิดใช้งานโครงการเชื่อมโยงระหว่างตลาดหุ้นในประเทศ และตลาดหุ้นฮ่องกง  ซึ่งเปิดให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น A-Share มากขึ้น ทำให้ตั้งแต่ต้นปี ดัชนี A-Share ปรับตัวขึ้นไปเกือบ 40% ขณะที่ H-Share ปรับตัวขึ้นเพียง 3% เท่านั้น อย่างไรก็ดีในระยะสั้น ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตามองคือความร้อนแรงของตลาดหุ้น A-Share ซึ่งปรับตัวขึ้นมาเกือบจะ 30% ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 สัปดาห์ ทำให้ระดับราคาของดัชนีหุ้น A-Share ได้ปรับตัวขึ้นมาเหนือค่าเฉลี่ยในอดีตแล้ว (P/E 13 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ย 12 เท่า) ขณะที่ดัชนี H-Share ยังมีระดับที่น่าสนใจอยู่ (P/E 8 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ย 9 เท่า) จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นหุ้น A-Share ปรับฐานลงในระยะสั้น ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากที่จะเข้าลงทุนในตลาดหุ้นจีน โดยเฉพาะตลาดหุ้น A-Share 
ไทย

เศรษฐกิจไทยในปี 2557 เติบโตได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งจากผลกระทบของการส่งออกที่ชะลอตัว และการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้า อย่างไรก็ดี คาดว่าการส่งออกน่าปรับตัวได้ดีขึ้นในปีหน้า จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในภูมิภาคหลักๆ รวมถึงการอ่อนค่าของค่าเงินบาท ซึ่งจะผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ให้สามารถเติบโตได้ดีกว่าปี 2557 ประกอบกับปัจจัยบวกจากเม็ดเงินในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในปี 2558 - 2565 ที่มีวงเงินรวมกว่า 3 ล้านล้านบาท รวมถึงแผนเร่งด่วนในปี 2558 กว่า 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ดี

ในส่วนของตลาดหุ้นไทย แม้จะมีการปรับฐานลงมาบ้างตามตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงเดือนธันวาคม จากแรงกดดันด้านราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลง แต่มองว่า ความผันผวนที่เกิดขึ้น เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น โดยยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในประเทศ ทั้งแผนการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน และความมีเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งมาตรการภาครัฐจะช่วยเอื้อบริษัทจดทะเบียนในหลายอุตสาหกรรม อาทิ ภาคการก่อสร้าง ภาคการท่องเที่ยว รวมถึงภาคธนาคารที่จะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่คาดว่าจะเติบโตได้ดีในปีหน้า อย่างไรก็ดี หุ่นในกลุ่มพลังงานยังได้รับแรงกดดันต่อเนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง 

ทองคำ

สำหรับแนวโน้มในปีหน้า ทองคำยังดูไม่สดใสนัก เนื่องจากการหยุดดำเนินมาตรการ QE ของสหรัฐอเมริกา ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และกดดันราคาทองคำ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคส่วนใหญ่ทั่วโลก ก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และไม่ได้สนับสนุนการปรับขึ้นของราคาทองคำ อย่างไรก็ดี แม้ในภาพรวมจะยังไม่เห็นปัจจัยบวกต่อราคาทองคำอย่างชัดเจน แต่เชื่อว่าราคาทองคำก็จะยังคงมีการเคลื่อนไหวในกรอบตามทิศทางข่าวสารเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนยังคงสามารถทำกำไรซื้อขายได้ตามรอบ โดยมองกรอบราคาทองคำในปี 2558 ที่ระดับ 1,150 - 1,250 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

น้ำมัน

แม้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในภาพรวมปี 2558 จะสามารถขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าปีนี้ แต่เศรษฐกิจของบางประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น หรือยุโรป ยังคงมีความเสี่ยง ขณะที่เศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลก ก็คาดว่าจะชะลอตัวลงจากปีปัจจุบัน ทำให้แนวโน้มความต้องการน้ำมัน ไม่น่าจะปรับขึ้นสูงมากนัก สอดคล้องกับการที่สำนักงานพลังงานสากล (IEA)  ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของอุปสงค์น้ำมันดิบโลกลง 230,000 บาร์เรลต่อวัน หรือลดลงกว่า 20% ขณะที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปค รวมถึงสหรัฐอเมริกาเอง ก็สามารถผลิตน้ำมันได้มากขึ้น ดังนั้น หากกลุ่มโอเปคยังคงรักษากำลังการผลิตที่ระดับเดิม โดยไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงใดๆ อาจจะส่งผลให้อุปทานส่วนเกินในโลกมีมากถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และจะกดดันราคาน้ำมันให้ยังคงอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องในปี 2558 

คำเตือนการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุนจัดทำ ณ วันที่ 16 ธันวาคม  2557 โดยนายอาทิตย์ ทองเจริญ ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด


กำลังโหลดความคิดเห็น