xs
xsm
sm
md
lg

การวางแผนการเงินของอาชีพอิสระ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดยคุณสาธิต บวรสันติสุทธ์ CFP®
สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

ก่อนอื่นครับ เรามากำหนดนิยามร่วมกันนะครับ ว่า อาชีพอิสระ มีธรรมชาติหน้าตาเป็นอย่างไร เพื่อที่พวกเราจะได้รู้ว่า “เอ๊ะ ใช่เรารึป่าว?”

อาชีพอิสระ ในความหมายของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว) คือ การประกอบกิจการส่วนตัวต่างๆ ในการผลิตสินค้าหรือบริการที่ถูกต้องตามกฏหมาย เป็นธุรกิจของตนเองไม่ว่าธุรกิจนั้นจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม มีอิสระในการกำหนดรูปแบบและวิธีดำเนินงานของตัวเองได้ตามความเหมาะสม ไม่มีเงินเดือนหรือรายได้ที่แน่นอน ผลตอบแทนที่ได้รับคือเงินกำไรจากการลงทุน ลักษณะที่สำคัญ คือ

1. เป็นเจ้านายตนเอง ใช้ความรู้ความสามารถได้อย่างเต็มที่

2. กำหนดการทำงานเอง

3. รับผิดชอบกิจการเองทั้งหมด

4. สามารถตัดสินใจเรื่องต่างๆ อย่างเต็มที่

5. รายได้ไม่จำกัด (ทำมากรวยมาก ทำน้อยรวยน้อย)

การประกอบกิจการส่วนตัว ไม่จำเป็นว่าต้องลงทุนด้วยเงินเสมอไปนะครับ สามารถลงทุนด้วยแรงกาย ความรู้ความสามารถ ก็ได้ ขอเพียงเข้าคุณลักษณะข้างต้น ก็ถือเป็นอาชีพอิสระได้แล้ว อย่างพวกตัวแทนประกันชีวิต พนักงานขายตรง หรือ พวกหมอที่ไปทำคลีนิคพิเศษ พวกนี้ก็ถือเป็นอาชีพอิสระเช่นกัน

อาชีพอิสระ ถ้าเทียบก็คล้ายหุ้น

ถ้าเปลี่ยนเทียบรายได้จากวิชาชีพอิสระก็คล้ายกับการลงทุนในหุ้น คือ มีความไม่แน่นอนสูง ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับความสามารถและความขยันขันแข็งของกิจการ ขยันมากได้มาก ขยันน้อยได้น้อย และยังขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก เศรษฐกิจดี รายได้มักจะเยอะ เศรษฐกิจแย่ รายได้ก็มักจะน้อย ข้อดีของอาชีพอิสระ คือ รายได้ไม่มีขีดจำกัด และมักจะผันแปรตามเงินเฟ้อ พูดง่ายๆ ของแพงขึ้น รายได้ก็มักจะเพิ่มตาม

ส่วนข้อควรระวังของอาชีพอิสระที่สำคัญ คือ ความไม่แน่นอนของรายได้ ดังนั้นหากมีรายจ่ายที่แน่นอนจำนวนมาก เช่น มีภาระหนี้สูง ก็จะก่อให้เกิดปัญหาในอนาคตได้ ดังนั้น การจัดทำบัญชีรายรับ รายจ่ายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยในการบริหารงบประมาณให้มีเงินเก็บสำรองไว้เพื่อการสร้างความมั่งคั่งในอนาคต และเพื่อสำรองใช้จ่ายในยามที่รายได้ลดน้อยลง

นับธุรกิจของเราอยู่ในสัดส่วนของการลงทุนในหุ้น

เมื่อรายได้ก็เหมือนหุ้น การจัดพอร์ตการลงทุนจึงควรนับธุรกิจของเราเป็นส่วนหนึ่งของหุ้นที่ลงทุนด้วย เพราะหากไม่นับ เราอาจมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่สูงเกินกว่าความสามารถในการรับความเสี่ยงของเราเองได้

อย่าลงทุนในหุ้นที่ทำกิจการเหมือนอาชีพตนเอง

เพราะอาชีพของผู้ทำอาชีพอิสระเองก็เหมือนการลงทุนในหุ้น ตัวอย่างเช่น หากเราทำอาชีพการท่องเที่ยว ก็เหมือนตัวเราเองลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอยู่แล้ว ดังนั้นเพื่อกระจายความเสี่ยง ในการลงทุนก็ไม่ควรลงทุนในหุ้นกลุ่มการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม เป็นต้น ตัวอย่างเช่น ภาวะวิกฤติการเมืองในประเทศไทยที่ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทยลดน้อยลง ถ้าเรามีอาชีพในธุรกิจการท่องเที่ยวอยู่ และเงินออมส่วนใหญ่เราอยู่หุ้นกลุ่มท่องเที่ยว เราอาจซวย 2 เด้ง งานก็หาย เงินก็หดได้

ตัวเองก็เป็นทรัพย์สินที่มีค่า อย่ามองข้าม

ผู้ประกอบอาชีพอิสระส่วนใหญ่มักดำเนินธุรกิจด้วยตนเอง ดังนั้นทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้ จึงไม่ใช่มีแค่ร้านค้า อุปกรณ์ทำกินเท่านั้น ตัวเราเองก็เป็นอุปกรณ์ทำกินด้วยเช่นกันและเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดด้วย แต่ก็แปลก เรามักจะทำประกันร้านค้า ประกันเครื่องจักร ประกันรถยนต์ ฯลฯ แต่ไม่ทำประกันชีวิตตนเอง โดยเฉพาะประกันสุขภาพ เครื่องจักรยังมีวันซ่อม เราก็ย่อมมีวันป่วยเช่นกัน ดังนั้น อย่ามองข้ามประกันชีวิตและประกันสุขภาพ

โดยเฉพาะคนที่มีภาระหนี้สินมากๆยิ่งจำเป็นต้องทำประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองภาระหนี้สิน ไม่ให้คนที่เราเดือดร้อนยามเกิดสิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น แต่ในช่วงที่รายได้ยังไม่มาก การทำประกันสุขภาพอาจเป็นภาระที่หนักเกินไป การใช้ประโยชน์โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็เป็นทางเลือกที่ดี สนใจศึกษาข้อมูลติดต่อ 1330 หรือที่ http://www.nhso.go.th/FrontEnd/index.aspx

วัยเกษียณ ความเสี่ยงรออยู่

สิทธิประโยชน์การออมเพื่อเกษียณเกือบทั้งหมดในเมืองไทยจะเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับพวกมนุษย์เงินเดือน อย่างเช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. ฯลฯ แต่ก็ใช่ว่าพวกอาชีพอิสระจะขาดสิทธิประโยชน์เสียทีเดียว เพราะเรายังมีกองทุน RMF และ ประกันบำนาญ ที่ให้สิทธิประโยชน์สามารถนำเงินที่ออมมาลดหย่อนภาษีได้สูงถึง 15% ของเงินได้ รู้อย่างนี้แล้ว อย่าลืมรีบใช้ออมในกองทุน RMF และ ประกันบำนาญให้เต็มสิทธิที่ได้ เพราะนอกจากช่วยประหยัดภาษีที่ต้องจ่ายแล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นคงในยามเกษียณให้ตนเองด้วย

ภาษีวางแผนดี จะมีกำไร

อาชีพอิสระที่เราทำ ถ้าไม่ใช่วิชาชีพอิสระตามกฎหมายกรมสรรพากร (ประเภทวิชาชีพอิสระ 6 ประเภทที่กรมสรรพากรกำหนดมี วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป์ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม) เราก็ไม่สามารถค่าใช้จ่ายได้ 30% - 60% ได้ และถ้าอาชีพอิสระของเรา รายได้อยู่ในมาตรา 40(2) เราจะหักค่าใช้จ่ายได้แค่ 40% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 60,000 บาทเท่านั้น ทำให้เสียภาษีมาก

ดังนั้นควรศึกษาวิธีปรับรูปแบบเงินได้ให้ไม่อยู่ใน 40(2) ไปอยู่ในมาตราอื่นๆ เช่น 40(5) (7) หรือ (8) แทน เพราะเราจะสามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นร้อยละของเงินได้อย่างเดียว และที่สำคัญไม่มีเพดานด้านจำนวนเงิน ตัวอย่างเช่น หากเรามีอาชีพอิสระรับจ้างทาสี ถ้ารับแค่ค่าแรง เงินได้จะเป็น 40(2) หักค่าใช้จ่ายได้แค่ 40% ไม่เกิน 60,000 บาท แต่ถ้าเรารับเหมาทั้งค่าของและค่าแรง เงินได้จะเป็น 40(7) หักค่าใช้จ่ายได้ถึง 70% แถมไม่มีเพดานจำนวนเงินด้วย ด้วยวิธีอย่างนี้เราก็จะเสียภาษีน้อยลง


กำลังโหลดความคิดเห็น