xs
xsm
sm
md
lg

Money Tips : เข้าใจนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่น : The Three Arrows

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดยปฐมินทร์ นาทีทอง
กลุ่มจัดการกองทุน
บลจ.บัวหลวง

ในบทความที่แล้ว “เข้าใจเศรษฐกิจญี่ปุ่น - The Lost 2 Decades” เราได้อธิบายถึงปัญหาต่างๆ ที่ญี่ปุ่นเผชิญในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยญี่ปุ่นจะมีการทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลนายอาเบะเรียกว่า นโยบายธนู 3 ดอก และในบทความนี้เราจะอธิบายนโยบายของธนูแต่ละดอกว่ามีความจำเป็นอย่างไรในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่นบ้าง

เริ่มจากธนูดอกแรก ซึ่งก็คือการทำนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน หรือ QQE (Quantitative and Qualitative Monetary Easing) หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล สิ่งที่จะตามมาก็คืออัตราดอกเบี้ยนโยบายจะต่ำลง ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลอาเบะมองว่าธนูดอกแรกนี้แหละที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นไปยืนพื้นอยู่ที่ 2% ในระยะยาวได้ ซึ่งภายในสิ้นปี 2014 เงินที่ถูกอัดฉีดเข้าระบบจะเป็นจำนวน 58% ของ GDP (ในขณะที่ ยุโรป สหรัฐฯ และอังกฤษ วางแผนทำ QE เพียงประมาณ 25% ของ GDP ภายในสิ้นปี 2014) ยิ่งไปกว่านั้น ภายใน 2 ปีเงินที่รัฐบาลอัดฉีดเข้าไปจะเป็น 2 เท่าของระดับปัจจุบัน ซึ่งการทำ QQE จำนวนมหาศาลขนาดนี้รัฐบาลของ
นายอาเบะมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะสามารถยืนพื้นอยู่ที่ระดับ 2% ในระยะยาวอย่างที่หวังไว้ และจากข้อมูลที่ผ่านมานโยบาย Abenomics ได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อคาดหมายซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญของอัตราเงินเฟ้อดีดตัวขึ้นไปแล้ว 1%

อย่างที่กล่าวข้างต้น รัฐบาลของนายอาเบะได้ใช้ QQE ควบคู่ไปกับนโยบายการคลัง หรือ Fiscal Policy โดยนโยบายการคลังของรัฐบาลอาเบะก็คือ ธนูดอกที่ 2 หรือการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายภาครัฐ (Government Spending) ไปในหน่วยงานต่างๆ เช่น การใช้งบรัฐบาลเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ สถานศึกษา สถานอนามัย และอื่นๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่ม GDP โดยตรงแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือเศรษฐกิจทางอ้อมผ่านทางการสร้างงาน และการเพิ่มการบริโภคอีกด้วย งบประมาณที่รัฐบาลจะใช้จ่ายนั้นมีจำนวนสูงถึง 10 ล้านล้านเยน ซึ่งคิดเป็น 2% ของ GDP เลยทีเดียว

หากเราเปรียบเทียบการยิงธนู 3 ดอกเสมือนกับการปีนภูเขาไฟฟูจิให้ถึงยอด การที่รัฐบาลยิงธนูออกไป 2 ดอกแรก เปรียบเสมือนแค่การตั้งแคมป์ที่ตีนภูเขาเท่านั้น ธนูดอกที่ 3 คือการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตได้อย่างยั่งยืน ไม่ไช่แค่ระยะสั้น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของรัฐบาลญี่ปุ่น

นโยบายของธนูดอกที่ 3 นั้น เปรียบเสมือนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยรวมของญี่ปุ่น หรือเราจะเรียกสั้นๆ ว่าเป็น Growth Strategy ก็ได้ โดยนโยบายนี้จะหวังผลการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว ไม่ไช่แค่ในระยะสั้น นโยบายธนูดอกที่ 3 นี้ประกอบด้วยหลากหลายมาตรการ ซึ่งผมจะขอยกตัวอย่างลงรายละเอียดเป็นบางนโยบายเท่านั้น เช่น การส่งเสริมทรัพยากรบุคคล โดยเพิ่ม Labor Force ให้ญี่ปุ่น ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายหลักคือการลดอัตราการว่างงานลง โดยรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะลดจำนวนผู้ที่ว่างงานเกิน 6 เดือนลง 20% ให้ได้ภายในปี 2019 และหนึ่งในวิธีการจะไปถึงเป้าหมายได้ ก็คือการเพิ่มบุคลากรหญิงเข้าไปในตลาดแรงงานของญี่ปุ่น

หลายท่านอ่านมาถึงตรงนี้อาจสงสัยว่าการเพิ่มแรงงานเพศหญิงเข้าไปในระบบไม่น่าต้องเป็นนโยบายระดับชาติ ซึ่งที่ผ่านมาในอดีตตามวัฒนธรรมญี่ปุ่นผู้หญิงส่วนใหญ่จะเป็นแม่บ้าน การที่รัฐบาลเพิ่มบุคลากรหญิงเข้าไปใน Labor Force จะทำให้มีทรัพยากรบุคคลที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นอย่างมาหศาล รัฐบาลได้เริ่มสร้างตัวอย่างโดยการเพิ่มผู้หญิงเข้าไปในรัฐสภา นอกจากนี้ รัฐบาลยังเพิ่มสถานเลี้ยงดูเด็กอ่อนเพื่อรองรับเด็กเพิ่ม 6 แสนคน ทำให้อัตราการจ้างงานของผู้หญิงอายุ 25-44 ปี เพิ่มขึ้น 69.4% ในเดือนเมษายน 2014 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ธนูดอกที่ 3 ยังมีมาตรการอื่นๆ เช่น

- การลดภาษีนิติบุคคล จาก 36.6% ให้ลงมาอยู่ในระดับที่แข่งขันได้กับประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ ซึ่งอยู่ที่ 25%

- การเพิ่มสัดส่วนของหุ้นในกองทุนบำเหน็จบำนาญ (GPIF) เพื่อกระตุ้นตลาดหุ้นญี่ปุ่น ซึ่งเคยอยู่ที่ 12% และขยับขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลนายอาเบะ ไปอยู่ที่ 16% และจะขยับขึ้นไปอีกที่เป้าหมายสัดส่วน 25%

- การปฏิรูปพลังงาน โดยจะพัฒนามาตรฐานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และจะลดการควบคุมการซื้อขายไฟฟ้าเพื่อให้ผู้ซื้อไฟฟ้ามีสิทธิ์เลือกผู้จำหน่ายไฟฟ้า

- การยกระดับบรรษัทภิบาล โดยการเสนอกฎหมายว่าแต่ละบริษัทจะต้องมีกรรมการอิสระอย่างน้อย 1 คน

- การปฏิรูปการศึกษา โดยจะตั้งเป้าหมายให้มหาวิทยาลัยญี่ปุ่น 10 แห่ง ติดอันดับ Top 100 ของโลก โดยปัจจุบันมีเพียง 2 แห่งที่ติดอันดับ

- การเพิ่มจำนวนธุรกิจ SME โดยตั้งเป้าให้การส่งออกโดยบริษัท SME มีมากขึ้นเป็น 2 เท่า ของปี 2010

ในระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ช่วง Lost 2 decades ของประเทศญี่ปุ่น เราจะเห็นได้ว่าปัญหาหลักคือการที่ผู้คนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยจนก่อให้เกิดภาวะเงินฝืด ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น ที่รัฐบาลของนายอาเบะได้แก้ปัญหานี้ด้วยการสร้างนโยบายเพื่อการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศญี่ปุ่นที่ชัดเจน เพื่อเพิ่มอัตราเงินเฟ้อ และกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว การสร้างนโยบายต่างๆ ที่กล่าวมานี้จะส่งผลให้บริษัทต่างๆ ทั้งที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนได้รับผลประโยชน์ในระยะยาว และจะส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นในอนาคตด้วย

จากเหตุและผลที่คาดหวังของมาตรการต่างๆ ทั้งหมด จึงน่าจะเชื่อได้ว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นคืน และส่งผลให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นในช่วงเวลานี้กลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการสะสมลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนระยะยาวจากนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่น และยังเป็นการกระจายความเสี่ยงไปต่างประเทศอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น