คอลัมน์รวยด้วยรัก...รวยด้วยหุ้น … โดย มนตรี ศรไพศาล
ผมได้มาเที่ยวพักผ่อนประจำปีกับครอบครัวที่ญี่ปุ่น โดยต้องมาต่อเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ จากมาเลเซีย เพื่อไปญี่ปุ่น ผมได้เห็นภาพที่สนามบินของเราทั้งขาเข้าและขาออกกลับสู่สภาพความคึกคักมากมายแล้วตื่นเต้น ขณะที่เดินบนรางเลื่อนที่แสนยาว (สะท้อนความยิ่งใหญ่) เห็นคนเดินแน่นตลอดทาง มีกลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นหย่อมๆ ทุกคนคึกคัก มีความสุข
มาถึงที่ด่าน ตม. (ด่านตรวจคนเข้าเมือง) ด้านต่างประเทศแน่นจนเจ้าหน้าที่โบกให้ไปอีกข้างหนึ่ง เห็นแล้วเชื่อว่าเป็นสัญญาณที่ดี มีกำลังใจดีจริงๆ ทำให้ผมมีแรงบันดาลใจอยากแบ่งปันท่านผู้อ่านดังต่อไปนี้
1. เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว เมื่ออยู่ในทางสว่าง ผมเชื่อในหลัก “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” คือ แผ่นดินใดที่เป็นธรรม แผ่นดินนั้นก็จะเป็นทอง บ้านเมืองเพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงมาไม่นาน จุดต่ำสุดกำลังจะผ่านไป จากนี้ไปน่าจะมีแต่ข่าวดี ผมฟันธงว่ารายงานการเติบโตด้านเศรษฐกิจแทบทุกตัวน่าจะเป็น “บวก” ตลอดหลายเดือนข้างหน้า โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว จากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองตลอดปลายปีที่แล้วจนถึงต้นปีนี้
... ด้านการบริโภคในประเทศ เมื่อเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวของตลาดหุ้น ก็จะสะท้อนอารมณ์ความเชื่อมั่นของนักลงทุน และสะท้อนกำลังจับจ่าย ชาวนาที่เคยได้รับแต่ประทวน ก็เริ่มได้รับเงินคืน แม้การหมุนรอบของเงินในกระบวนการผลิตค้างมาหลายเดือน แต่เชื่อว่าจะทยอยกลับเข้าที่ในไม่ช้า การค้าขายก็เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวเป็นลำดับ
... ด้านการลงทุน การลงทุนโครงการต่างๆ ก็เริ่มกลับมา ทั้งด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ด้านอุตสาหกรรม ด้านการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ฯลฯ
... ด้านท่องเที่ยว เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน เที่ยวสิงคโปร์ก็จำกัดจำเจ เที่ยวมาเลเซียก็งั้นๆ ข่าวเครื่องบินสายการบินมาเลเซียตกก็ทำให้คนหวั่นๆ อยู่เหมือนกัน เที่ยวฮ่องกงก็เจอการประท้วง คิดถึงเมืองไทยมานานก็มาเที่ยวกันใหญ่ ผมเห็นกับตาที่สนามบิน นอกจากขาเข้าก็แน่นแล้ว ขาออกก็แน่นเช่นกัน นักท่องเที่ยวไทยไปต่างประเทศมีมาก แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับบ้านก็เต็มไปหมด ต้องถือได้ว่ากำลังเข้าที่เข้าทางทีเดียว
... ด้านการส่งออก ก็คงค่อยๆ ฟื้นตัว ในครึ่งปีแรกเอง บริษัทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ก็แสดงสัญญาณการฟื้นตัวเป็นอย่างดี และเชื่อว่าหากเศรษฐกิจโลกไม่ได้ทรุดตัว การส่งออกไทยต้องฟื้นตัวอย่างแน่นอน
... ด้านการใช้จ่ายภาครัฐ เมื่อรัฐบาลเพิ่งเริ่มต้น การใช้จ่ายทั้งงบล้างท่อ และงบประมาณปีใหม่ก็น่าจะทยอยออกมา ทำให้น่าจะมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนในไม่ช้า
เมื่อสัญญาณทุกๆ ด้านน่าจะเป็นบวก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หลายๆ อย่างก็จะเป็นความหวังและคืนความสุขของคนไทย (คสช.) อย่างได้ผลทีเดียวครับ
2. สิ่งที่น่ากลัว คือ “ความกลัว” นั่นเอง ผมก็ยังเชื่อในคำสอนของประธานาธิบดีรุสเวล ที่พาสหรัฐอเมริกาให้พ้นวิกฤตเศรษฐกิจปี 1930 ว่า “สิ่งที่น่ากลัวเพียงสิ่งเดียว คือ “ความกลัว” นั่นเอง” ตามตำราเศรษฐกิจมหภาคยุคใหม่ ปัจจัยแรกของการเติบโตทางเศรษฐกิจ คือ “การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ” (Expected Economic Growth) เป็นไปตามหลักการพระคัมภีร์ที่ว่า “เชื่อแล้วจึงเห็น ไม่ใช่เห็นแล้วจึงเชื่อ”
... ถ้าเราเชื่อว่า เศรษฐกิจดี เศรษฐกิจก็จะดีอย่างที่เชื่อ เพราะคนจะกล้าจับจ่าย ค้าขายก็จะสะพัด
... ถ้าเราเชื่อว่า เศรษฐกิจไม่ดี เศรษฐกิจก็จะไม่ดีอย่างที่เชื่อ เพราะคนจะไม่กล้าจับจ่าย ค้าขายก็จะฝืดเคือง
แต่มีเสียงออกมาพูดกันให้เข้าใจผิดอยู่เรื่อย เช่น เมื่อสภาวะต่างประเทศยังไม่ดีนัก การส่งออกก็ท้าทายขึ้น แต่กลับสื่อกันให้ “กลัว” ว่า การส่งออกคิดเป็นมูลค่าถึง 70% ของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ถ้าส่งออกยังไม่ดี เศรษฐกิจโลกย่ำแย่ คนไทยต้องลำบากแน่ เพราะรายได้จะหายไป 70%
นั่นเป็นความเท็จครับ เพราะแม้การส่งออกจะสูงถึง 70% แต่ส่วนประกอบที่นำเข้ามาเพื่อผลิตและส่งออกก็สูงมากๆ เราเคยคำนวณว่า การส่งออกสุทธิจะมีผลต่อจีดีพีเท่าไร เชื่อว่าน่าจะประมาณ 15% ซึ่งแม้จะยังสูงครับ แต่ก็ไม่น่ากลัวเกินไป ถ้าเศรษฐกิจต่างประเทศไม่ดี และถ้าต่างประเทศไม่ดีจริงๆ คนไทยยิ่งต้องช่วยเหลือกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างกลัว แต่ต้องเข้มแข็ง จับจ่ายเพื่อกันและกัน เศรษฐกิจไทยก็จะเข้มแข็งยั่งยืนต่อไป
3. บทเรียน “เกษตรกรญี่ปุ่น” เราได้มีโอกาสมาเที่ยวไร่แอปเปิล ตื่นเต้นมาก เราลงไปเด็ดแอปเปิลรับประทานกันได้เลย หวาน สด กรอบ อร่อยมากครับ (พูดให้อิจฉาหน่อยครับ 555) นำเข้าถึงบ้านเรา กก. ละ 300-400 บาท ที่ไร่ราคา กก. ละ 200 บาทได้ และเราได้เรียนรู้บทเรียนที่น่าสนใจ
เกษตรกรแม้ไม่มีความรู้มาก แต่การทำแอปเปิลก็จะหาคนที่เก่งกว่าเธอคงยาก เราได้ขับรถผ่านไปบางพื้นที่ มีการเอาแผ่นพลาสติดคลุมดิน อาจกลัวน้ำค้างลงดินมากไป ในบางเวลาที่อาจทำให้ผลไม้จืด มีการตั้งอกตั้งใจดูแลผลไม้ต่างๆ อย่างดีน่าประทับใจ เธอดูแลที่ดิน 200 ไร่ด้วยครอบครัวเธอที่มีอยู่ประมาณ 4 คน
หลักการที่ผมได้เรียนรู้คือ ความสำเร็จของนโยบายด้านการเกษตร ไม่ใช่การบิดเบือนกลไกตลาดจนเกษตรกรได้รับราคาสูงเกินกลไกตลาด ควรให้กลไกตลาดกำหนดให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชผลที่ให้ราคาดี ผลตอบแทนดี หรือเพิ่มพูนความรู้ เสริมสร้างเกษตรอุตสาหกรรม หรือย้ายไปทำงานเพิ่มเติมด้านอุตสาหกรรมหรือการบริการ
เป้าหมายคือ ให้จำนวนเกษตรกรมีน้อยลง มีพื้นที่ต่อเกษตรกรมากขึ้น
บทเรียนสำคัญคือ “อย่าฝืนกลไกตลาด” เพราะกลไกตลาดจะมี Invisible Hands (คือ Hands of God หรือ “พระหัตถ์ที่มองไม่เห็น”) ที่จะจัดสรรทรัพยากรไปสู่สิ่งที่ดีที่สุด ถ้าราคาข้าวตามกลไกตลาดโลกเป็น 11,000 บาท ก็ควรให้เป็นไปตามกลไกตลาด อาจสนับสนุนด้านการประกันรายได้ ด้านเทคโนโลยีการผลิต ด้านปัจจัยการผลิต แต่อย่าบิดเบือนราคาตามกลไกตลาด
เพราะนั่นจะทำให้เกษตรกรเข้าใจผิด เข้ามาผลิตกันมากขึ้น ยิ่งล้นตลาด ยิ่งเป็นภาระความสูญเสีย เพราะเสียของที่มาจากหยาดเหงื่อแรงงานมาผลิตสิ่งที่ล้นตลาด และใช้เงินชาติเสียหายหลายแสนล้านบาท และเกษตรกรก็ไม่ได้รวยขึ้น ได้เงินช้า ทำให้เป็นหนี้นอกระบบมากมาย
หลังๆ ผมเห็น SMS ขึ้นจอทีวีว่า “ถ้าราคาข้าวได้ กก. ละ 50 บาทเท่าราคายาง ชาวนาจะไม่มีปัญหาเลย”
ผมว่าเป็นเนื้อหาที่ไม่สร้างสรรค์ และทำร้ายสังคม ถ้าเช่นนั้น เอาสัก กก. ละ 200 บาทอย่างแอปเปิลเลยดีหรือไม่?
ถ้าราคาตลาดของข้าวอยู่ที่ 11,000 บาทต่อตัน (กก. ละ 11 บาท) จะไปสั่งให้เป็น 15 บาท หรือ 30 บาทก็บิดเบือนกลไกตลาด ให้เราเชื่อใน “พระหัตถ์ที่มองไม่เห็น” เป็นสัญญาณว่าจะมีอย่างอื่นให้ทำดีกว่า อย่าผลิตกันเพิ่มอีก
ถ้าจัดสรรทรัพยากรถูกต้อง จะทำให้ปริมาณสินค้าพอเหมาะ และราคาสินค้าจะปรับตัวขึ้นอย่างเหมาะสม และเกษตรกรจะมีรายได้ดีอย่างยั่งยืนต่อไป
ผมเห็นสัญญาณดีๆ แล้วอยากให้คนไทยได้มีบทเรียน มีความหวัง และมีกำลังใจจริงๆครับ
มนตรี ศรไพศาล (montree4life@yahoo.com; www.oknation.net/blog/richwithlove; @montrees)