มอร์นิ่งสตาร์เผยผลงาน 9 เดือนแรกกองทุนหุ้นไทยโดยเฉพาะกองทุนหุ้นกลางและเล็กให้ผลตอบแทนเฉลี่ยกว่า 21.13% ขณะที่การลงทุนใน High Yield Bond ก็ยังได้รับความนิยม ส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนแล้วกว่า 100,000 ล้านบาทในไตรมาสที่ 3 ส่วนกองทุนทริกเกอร์ฟันด์ก็ยังร้อนแรงไม่เลิก พบกองทุนทริกเกอร์ที่ไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศยังได้รับความนิยม
นายพีร์ ยงวณิชย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมกองทุนไทยได้พัฒนาและก้าวหน้าไปมากพอสมควร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ บลจ.ได้นำมาเสนอต่อผู้ลงทุน เช่นการลงทุนในต่างประเทศใหม่ๆ เช่น เยอรมนี เกาหลี ไต้หวัน เป็นต้น รวมถึงกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIT และการลงทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนใน High Yield Bond ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยกองทุนดังกล่าวมีเม็ดเงินไหลเข้ามากว่า 100,000 ล้านบาทในไตรมาสที่ 3 นี้อีกด้วย
นอกจากนี้ กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศแบบเจาะกลุ่มประเทศ (Single Country) และภูมิภาค (Region) ยังคงมีการเปิดขายอย่างต่อเนื่อง และมีเงินไหลเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 3 กว่า 16,103 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปีมีเงินเข้ามาลงทุนรวมทั้งสิ้น 39,000 ล้านบาท โดย 3 กลุ่มประเทศที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ ยุโรป ญี่ปุ่น และเอเชีย
สำหรับกองทุนหุ้นไทยนั้นจะพบว่าในไตรมาสที่ 3 มีสัญญาณกลับเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยรวมมีเงินไหลเข้ากลุ่มหุ้นไทยกว่า 5,328 ล้านบาท แบ่งเป็นกองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็ก ประมาณ 3,483 ล้านบาท ส่วนกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ 1,845 ล้านบาท ส่งผลให้ทั้งปีมีเงินไหลเข้าหุ้นไทยแล้วกว่า 7,443 ล้านบาท
นายพีร์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของผลตอบแทนของกองทุนรวมประเภทต่างๆ นั้นจะพบว่ากองทุนหุ้นที่เน้นลงทุนในไทยให้ผลตอบแทนดีที่สุดนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยกองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็กให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 23.13% และกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 21.47% ส่วนกองทุนหุ้นผสมแบบ Aggressive Allocation ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 18.66% และกองทุนหุ้นแบบ Moderate Allocation ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8.02%
ส่วนกองทุนตราสารหนี้นั้น กองทุนที่ลงทุนใน Emerging Market Bond ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4.3% ขณะที่ตราสารหนี้ที่ลงทุนในประเทศทั้งระยะสั้นและระยะยาวให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 2-3% เท่านั้น ส่วนกองทุนหุ้นที่ลงทุนในต่างประเทศใน 3 กลุ่มหลักให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่างกันดังนี้ กลุ่ม Asia Pacific ex-Japan Equity ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 2.94% กลุ่ม Global Equity ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 1.55% และกลุ่มใน Emerging Market Equity ทำได้ 0.42%
ในส่วนของกองทุน LTF และ RMF ที่ดูจะเป็นประเด็นใหญ่ของอุตสาหกรรมกองทุนรวมในไตรมาสนี้ ในเรื่องของความไม่แน่นอนของการต่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกอง LTF ที่จะหมดลงในปี 2559 รวมถึงการออกมาตรการใหม่เพื่อลดหย่อนภาษีแบบใหม่ ซึ่งตรงนี้ยังไม่ได้มีการประกาศออกมาอย่างชัดเจนจากรัฐบาลแต่อย่างใด ดังนั้นผู้ลงทุนยังคงสามารถลงทุนและรับสิทธิประโยชน์ได้เช่นเดิมเหมือนกับทุกปี
อย่างไรก็ตาม การลงทุนใน LTF และ RMF ของปีนี้นั้นยังคงดูนิ่งๆ อยู่ โดยเฉพาะ LTF ที่ยอดทั้งปียังคงเป็นเงินไหลออกสุทธิอยู่กว่า -3,181 ล้านบาท ส่วนกอง RMF นั้นก็มีเงินลงทุนไหลเข้ามาแบบเบาบางเพียง 1,788 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งนี้เชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่นั้นยังคงชะลอการลงทุน เนื่องจากดัชนี SET Index ได้ปรับขึ้นมาสูงตลอดทั้งปี แต่เชื่อว่าในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะเห็นเงินลงทุนไหลเข้ากองทุนทั้ง 2 ประเภทไม่น้อยไปกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา
ทางด้านนายกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์กองทุน บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในไตรมาสที่ 3 นี้จะพบว่ากองทุนทริกเกอร์ฟันด์กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง เฉพาะในไตรมาสนี้มีกองทุนทริกเกอร์เปิดขายแล้วกว่า 27 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกว่า 18,200 ล้านบาท แบ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นไทย 13 กองทุน มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท และกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศอีก 14 กองทุน มูลค่ากว่า 8,200 ล้านบาท ทั้งนี้ หากรวมทั้งปีจะพบว่ามีกองทุนทริกเกอร์ฟันด์ออกมาแล้ว 60 กองทุน มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ 32,200 ล้านบาท
ขณะที่ผลตอบแทนโดยรวมของกองทุนทริกเกอร์ฟันด์โดยเฉพาะลงทุนในหุ้นไทยนั้นปรับลดลงจากเดิมเหลือเพียง 5-8% จากเดิมประมาณ 8-10% ส่วนผลตอบแทนกองทุนทริกเกอร์ฟันด์ที่ลงทุนต่างประเทศผลตอบแทนเฉลี่ยจะอยู่ที่ 8-10%