ไทคอน รุกธุรกิจกอง REIT หลังยื่น กลต. ตั้งกองทรัสต์กองแรก ลงทุนในคลังสินค้าไทคอน มูลค่า 4,000-5,000 ล้านบาท คาดได้อนุมัติ ก.ล.ต. ช่วง พ.ย.นี้ พร้อมแผนกลยุทธ์ลงทุนในกลุ่มอาเซียน
นายวีรพันธ์ พูลเกษ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TICON เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้วางเป้าหมายผลักดันให้ บริษัท ไทคอน แมนเนจเม้นท์ จำกัด หรือ “ทีแมน” (TICON Management Co., Ltd : TMAN) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มไทคอน ก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจผู้จัดการบริหารกองทรัสต์ (REIT Manager) เพื่อรองรับกับแนวโน้มการเติบโตของการลงทุนในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะเป็นทางเลือกที่ใหม่ที่ดีสำหรับนักลงทุนในอนาคต
ขณะนี้กลุ่มบริษัทไทคอนมีความพร้อมที่จะรุกธุรกิจจัดการบริหารกองทรัสต์ (REIT) อย่างเต็มตัว ภายหลังจากที่ TMAN ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ดำเนินธุรกิจเป็นผู้จัดการกองทรัสต์ (REIT Manager) เรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้ TMAN ก็ได้ยื่นขออนุญาตจัดตั้งกองทรัสต์ เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ของทรัพย์สินในกลุ่มไทคอนขึ้นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายอมร จุฬาลักษณานุกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทคอน แมนเนจเมนท์ จำกัด (TMAN) กล่าวว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในหว่างดำเนินการยื่นการจัดตั้งทรัตส์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ไทคอน (T-Rite) ซึ่งคาดว่าน่าจะได้รับอนุมัตในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ และคาดว่าบริษัทไทคอนจะสามารถรับรู้รายได้ ซึ่งคาดว่าว่าจะอยุ่ประมาณ 6600 ล้านบาท โดยในเบื้องต้นจะลงทุนครั้งแรกในอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงงาน และคลังสินค้าให้เช่า ของกลุ่มบริษัทไทคอน มีมูลค่าประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท ตั้งเป้าขายให้แก่นักลงทุนในประเทศเป็นหลัก ขณะที่บริษัทไทคอนถือสัดส่วนการลงทุนอยุ่ 20-25%
นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนที่จะสร้างมูลค่าของกอง REIT ให้เติบโตในระยะยาว ด้วยการเพิ่มทรัพย์สินประเภทอื่นๆ เข้ามาในอนาคต โดยเป้าหมายที่สำคัญ คือ การเพิ่มขนาดของกองให้มีการเติบโตไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท ในระยะเวลา 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งมีหลายสินทรัพย์ที่ให้ความสนใจบริษัทไทคอนในการให้เข้ามาบริหาร เพราะไทคอนมีความเชี่ยวชาญในการลงทุน นอกเหนือจากการลงทุนในประเทศแล้ว ยังมองการลงทุนในต่างประเทศด้วยโดยมีการออกไปดูสินทรัพย์ในอินโดฯ มาเลเซีย ด้วย แต่ยังติดในเรื่องข้อกำหนดการลงทุนใน ก.ล.ต.
ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงจากการลงทุนในโรงงานและคลังสินค้าเมื่อเทียบกับอสังหาริมทรัพย์อื่นๆอย่างโรงแรม และชอปปิ้งมอลล์ ถือว่ามีค่อนข้างน้อย เพราะคลังสินค้ามีอัตราการเช่าที่คงที่ต่อเนื่องในระยะยาว ผู้เช่ามีการต่อสัญญาทุกๆ 3 ปีต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสินทรัพย์อย่างโรงแรมที่มีความเสี่ยงจากการท่องเที่ยวการเข้าพัก ขณะที่การเพิ่มค่าเช่าของคลังสินค้าก็เป็นไปตามอัตราเงินเฟ้อ
“จุดแข็งที่สำคัญของทรัพย์สินของไทยคือ ทำเลที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ ด้านภาคการผลิต และการกระจายสินค้า รวมไปถึงตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศไทยที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ส่งผลให้กลุ่มไทคอน ได้รับประโยชน์จากการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ขณะเดียวกัน กอง REIT ยังสามารถลงทุนในคลังสินค้า และโรงงานให้เช่าเพิ่มเติมในอนาคตได้ รวมทั้งยังสามารถนำอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ เช่น โรงแรม ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน คอมมูนิตีมอลล์ ฯลฯ เพิ่มเติม ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ” นายอมร กล่าว