xs
xsm
sm
md
lg

Design your life by Mutual Fund : ทำไมการลงทุนในกองทุน LTF-RMF ยังสำคัญหากภาครัฐไม่ต่อภาษี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ Design your life by Mutual Fund

การวางแผนการเงินที่ดีกับกองทุน LTF-RMF (เสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการลงทุน LTF-RTF ว่าปีนี้ยังมีสิทธิในการลดหย่อนได้ และถึงแม้ไม่ได้สิทธิลดหย่อนผู้ลงทุนก็ยังควรคำนึงถึงการลงทุนเพื่อการเกษียณที่ดีและยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝาก)

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมากองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ Long-term Equity Fund (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ Retirement Mutual Fund (RMF) เป็นที่รู้จักในหมู่มนุษย์เงินเดือนว่าเป็น “กองทุนคู่หูช่วยประหยัดภาษี” คร่าวๆ คือ ผู้ลงทุนจะได้สิทธิลดหย่อนทางภาษีได้สูงสุดถึง 15% ของรายได้แต่ละปี แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาทสำหรับกองทุนแต่ละประเภท

อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์หลักของภาครัฐในการสนับสนุนให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) จัดตั้งกองทุน LTF และ RMF ก็เพื่อสร้างเสถียรภาพในตลาดทุนไทยและสร้างวินัยในการออมของนักลงทุนรายย่อยเพื่อการลงทุนระยะยาว เพื่อวัยเกษียณเมื่อพ้นจากงานและไม่มีรายได้ประจำแล้ว และเนื่องจากกองทุนทั้งสองประเภทต่างก็เน้นการลงทุนระยะยาว ภาครัฐจึงเพิ่มแรงจูงใจนักลงทุนรายย่อยโดยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี

ดังนั้น ถึงแม้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับ LTF-RMF กำลังจะหมดลงในปี 2559 ซึ่งทางภาครัฐจะต่ออายุโครงการหรือไม่ก็ตาม การลงทุนระยะยาวเพื่อการออมเงินและชีวิตหลังเกษียณสำหรับนักลงทุนรายย่อยก็ยังคงสำคัญอยู่ ... ทำไม?

1. การลงทุนเพิ่มโอกาสให้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อ

ยกตัวอย่างหากดูข้อมูลย้อนหลังพบว่า ผลตอบแทนจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ให้ผลตอบแทน 15% ต่อปีโดยเฉลี่ย (นับตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งมีการเปิดทำการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นครั้งแรก) ผลตอบแทนในการลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาลไทยประมาณ 4% ต่อปี ผลตอบแทนเงินฝากประจำ 1 ปีให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 2% ต่อปี ขณะที่เงินเฟ้อหรือการปรับขึ้นของค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยประมาณปีละ 3% ดังนั้นการออมเงินโดยไม่ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงบ้างก็มีความเสี่ยง ความเสี่ยงที่ว่าคือมูลค่าเงินที่มีมูลค่าลดลงหรือเพิ่มขึ้นไม่ทันค่าครองชีพนั่นเอง

2. การออมตั้งแต่เนิ่นๆ และออมให้นานๆ ทำให้นักลงทุนเพื่อการเกษียณสุข พึ่งตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น

เชื่อหรือไม่ว่า โดยรวมงบประมาณด้านสวัสดิการ ประกันสังคม และสุขภาพของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่นประเทศญี่ปุ่น และอเมริกา ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 24% และ 19% ตามลำดับ นอกจากนั้นแล้วปริมาณเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพของคนไทยก็อยู่ในระดับต่ำเช่นเดียวกัน ประมาณ 8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ในขณะที่ประเทศอเมริกา และสิงคโปร์นั้นอยู่ที่ประมาณ 78% และ 68% ตามลำดับ

แต่ที่น่ากังวลคือ ประเทศไทยเรากำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยและครอบครัวก็มีขนาดเล็กลง กล่าวคือ โครงสร้างประชากรไทยมีลักษณะเหมือนกับประเทศพัฒนาแล้วคือมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแต่เรามีเงินออมเพื่อการเกษียณไม่เพียงพอ ดังนั้น การลงทุนเพื่อการเกษียณโดยเริ่มออมเงินตั้งแต่เพิ่งเริ่มทำงานจนถึงวัยเกษียณจึงสำคัญมากหากนักลงทุนต้องการเกษียณสุขและลดการพึ่งพาลูกหลานและภาครัฐให้น้อยที่สุด

โดยสรุป ถึงแม้รัฐบาลอาจจะต่อหรือไม่ต่ออายุสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับกองทุน LTF-RMF ในอนาคต นักลงทุนควรคำนึงถึงการลงทุนระยะยาวเพื่อผลตอบแทนที่งอกเงยชนะเงินเฟ้อและเงินฝาก และเพื่อการเกษียณสุขในอนาคต

ที่มาข้อมูล: SET Smart , Thai BMA, Bloomberg และกระทรวงพาณิชย์

ที่มาข้อมูล: Asia Development Bank, Manulife Asset Management, สำนักงานประกันสังคม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น